ความเชื่อเดิมว่าโรคหัวใจมักเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงอายุ กลับไม่เป็นจริงแล้วในปัจจุบัน ที่ทั่วโลกพบว่าเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้น
กลุ่มโรคเกี่ยวกับหัวใจที่สำคัญมีหลายประเภท ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
สาเหตุของกลุ่มโรคหัวใจมาจากปัจจัยหลายประการ ทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น กรรมพันธุ์ อายุ เพศ และปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร
รศ. นพ. ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายในรายการพบหมอรามาฯ ทางช่องยูทิวบ์ RAMA CHANNEL ว่าโรคหัวใจที่เกิดขึ้นมากที่สุดและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตทั้งของคนไทยและทั่วโลก คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน พบได้มากในคนวัยกลางคนขึ้นไปจนไปถึงผู้สูงอายุ น้อยรายมากที่จะเป็นวัยเด็ก แต่ก็สามารถพบได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอ่อนผิดปกติ การแตกหรือการเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงการติดเชื้อที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพบไม่บ่อย โดยส่วนใหญ่เกิดจากการที่หลอดเลือดมีไขมัน หินปูน หรือลิ่มเลือดไปอุดตัน ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
อาจารย์แพทย์จากรามาฯ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันมีหลายประการ โดยปัจจัยแรก ได้แก่อายุ ในอดีต ใช้เกณฑ์อายุสำหรับเพศชายที่ 55 ปี และหญิงวัย 65 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยหมดประจำเดือน แต่ปัจจุบันสั้นลงเรื่อย ๆ อายุน้อยลง เพราะคนในยุคปัจจุบันเรามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายประการ
“ทั้งภาวะอ้วน ไขมันสูง ความดันเบาหวาน สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ไม่นับรวมเรื่องกรรมพันธุ์ ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจก็ต้องระวัง” รศ. นพ. ทศพล กล่าว
ทำไมโรคหัวใจเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้น : จากแพทย์รามา สหรัฐฯ และอังกฤษ
รศ. นพ. ทศพล กล่าวว่า ส่วนหนึ่งมาจากการสูบบุหรี่ ตั้งแต่อายุน้อย
“ที่ผมเจอ คนที่สูบบุหรี่เยอะ ๆ จัด ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ตั้งแต่อายุ 30-35 ปี เส้นเลือดหัวใจตีบอุดตัน ไม่นับโรคอื่น เช่นโรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคใหลตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติที่โรคหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตได้”
อาจารย์แพทย์รามากล่าวด้วยว่า เป็นนักกีฬาก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติได้ โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพหรือผู้ที่ใช้ร่างกายหนัก ๆ ควรจะต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจก่อนทุกครั้งเพื่อดูว่าสามารถเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่หักโหมได้หรือไม่
“ส่วนใหญ่แล้วความหนาของหัวใจคนเราประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ความหนานี้ขึ้นอยู่กับ ปกติหากมีความดันโลหิตสูงนาน ๆ ก็มักจะมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาโดยอัตโนมัติ พูดง่าย ๆ เหมือนเรายกน้ำหนัก ถ้าเกิดความดันสูง กล้ามเนื้อก็ต้องยก มีการบีบตัวไล่เลือดไปยังหลอดเลือดที่แข็ง ๆ เพราะฉะนั้นกล้ามเนื้อก็ต้องหนาตัว”
“นักกีฬาที่ออกกำลังเยอะ ก็อาจจะกล้ามเนื้อหัวใจหนาได้ การออกกำลังเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าออกกำลังเยอะเกินไป จะทำให้เกิดมีภาวะกล้ามหัวใจหนาได้ ส่งผลต่อการทำงานหัวใจในอนาคตได้”
ด้านศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) เองก็บอกด้วยว่า โรคหัวใจ ยังเกิดกับคนวัยหนุ่มสาวมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนหนุ่มสาวมากมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
“โรคหัวใจ และปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ สามารถเกิดกับวัยไหนก็ได้” เว็บไซต์ของซีดีซีระบุ
CDC ระบุด้วยว่า อัตราการเป็นโรคอ้วนที่สูงและความดันโลหิตสูงในคนวัยหนุ่มตั้งแต่ 35–64 ปี ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย
นอกจากนี้ เกือบครึ่งของประชากรอเมริกัน มักจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อยอย่างจากปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ อันได้แก่ ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง และการสูบบุหรี่
งานศึกษาที่นำเสนอต่อวิทยาลัยแพทย์โรคหัวใจอเมริกัน เมื่อปี 2562 ชี้ด้วยว่า จากการศึกษาผู้รอดชีวิตจากภาวะหัวใจวาย 2 กลุ่มอายุ ได้แก่ 41-50 ปี และอายุต่ำกว่า 40 ปี ลงมา พบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายตั้งแต่อายุยังน้อยโดยรวม 1 ใน 5 คือ 40 ปีหรือน้อยกว่า
นอกจากนี้ในช่วง 16 ปี ที่ทำการศึกษา (2000- 2016) สัดส่วนของคนอายุน้อยที่หัวใจวายได้เพิ่มจำนวนขึ้น 2% ต่อปีในช่วง 10 ปีหลัง
ส่วนที่สหราชอาณาจักร งานวิจัยองค์กรการกุศลเกี่ยวกับความเสี่ยงโรคหัวใจในคนหนุ่มสาวที่ชื่อว่า Cardiac Risk in the Young พบว่า คนอายุต่ำกว่า 35 ปีในสหราชอาณาจักร 12 คน เสียชีวิตในแต่ละสัปดาห์ ด้วยสาเหตุเกี่ยวกับหัวใจที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้
โรคหัวใจขาดเลือด สาเหตุเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย
สถิติสาธารณสุขของประเทศไทยในปี 2564 พบว่าโรคหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากเป็นอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง และปอดบวม โดยโรคหัวใจขาดเลือด คร่าชีวิตคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน หรือราว 33 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ขณะที่การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงถึง 16% หรือประมาณ 8.9 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ภาวะที่คนทั่วไปอาจจะคุ้นชิน คือ โรคหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack)
เมื่อเดือน พ.ย. 2563 ข่าวการเสียชีวิตของ นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ด้วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างร่วมกิจกรรมวิ่งมาราธอนที่ จ.สิงห์บุรี หลังจากหมดสติระหว่างวิ่ง ทำให้สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันในเวลานั้นว่า พบได้บ่อยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป
นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุในเวลานั้นว่า สาเหตุอาจเกิดได้จากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันชนิดเฉียบพลัน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกบริเวณซีกซ้าย อาจจะมีร้าวไปที่แขนซ้ายหรือร้าวไปที่กราม ร่วมกับมีอาการเหงื่อออก มือเท้าเย็น วิงเวียนจะเป็นลม หมดแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจไม่อิ่ม
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือน
อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายว่า หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นการสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกระทันหันจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงหรือเต้นพริ้ว ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ
ผู้ป่วยจะเกิดอาการวูบหมดสติเนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วยไม่หายใจ และคลำชีพจรไม่ได้ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีการกู้ชีพทันที เพื่อให้มีออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอจนกว่าการทำงานของหัวใจจะกลับมาเต้นปกติ โดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED)
“การปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสการรอดชีวิตจะลดลงและถ้าสมองขาดเลือดนานเกินไปผู้ป่วยอาจจะฟื้นแต่มีความพิการทางสมองตามมา”
นพ. เอนก กนกศิลป์ ผอ. สถาบันโรคทรวงอก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายด้วยว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า
นอกจากนี้ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยในขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญาณเตือน
อย่างไรก็ตาม นพ.เอนก อธิบายว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart Attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญาณเตือนนำมาก่อน เช่น อาการเจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่นหายใจไม่อิ่ม แต่การเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เช่นกัน
ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอย่างไร
อีกกลุ่มอาการโรคหัวใจที่เรามักเคยได้ยิน คือ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)
บทความโดย กลุ่มงานภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า อาการที่ปรากฏทางร่างกายที่บ่งชี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลําบาก รู้สึกเหมือนจมน้ำ ไม่สามารถนอนราบได้ ต้องใช้หมอนหนุนหลังตลอดเวลา ขาบวม ท้องบวม และน้ำหนักตัวเพิ่มสูงผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการคั่งของน้ำในร่างกาย โดยคนทั่วไปอาจจะรู้จักภาวะอาการเช่นนี้ในชื่ออย่างอื่น ได้แก่ ภาวะน้ำท่วมปอดหรือหัวใจโต
นพ.เอกราช อริยะชัยพาณิชย์ แพทย์จากศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มอาการนี้ไม่ใช่โรคแต่เป็นสภาวะที่หัวใจอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ตามปกติ
นอกจากนี้ ภาวะหัวใจล้มเหลว ยังเป็นภาวะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจ พิการแต่กําเนิด เป็นต้น
“เมื่อได้ชื่อว่าเป็นภาวะเรื้อรัง จึงสามารถรักษาได้แต่ไม่หายขาด จําเป็นต้องใช้ยาหลายชนิดเพื่อดูแลผู้ป่วยภาวะนี้ทั้งการใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยขับน้ำส่วนเกินที่คั่งอยู่ออกจากร่างกาย การใช้ยาหัวใจที่เหมาะสมจะเพิ่มโอกาสที่หัวใจจะบีบตัวดีขึ้นแข็งแรงมากขึ้น โดยลดความดันหรือทําให้หัวใจบีบช้าลงลด การใช้พลังงานผู้ป่วยก็จะรู้สึกเหนื่อยน้อยลง อีกทั้งยังต้องปรับการให้ยาตามสภาวะอาการอยู่เสมอ”
สัญญาณเตือนโรคหัวใจ
จากข้อมูลข้างต้นของสถาบันโรคทรวงอก ที่ระบุว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือน แต่โรคหัวใจส่วนใหญ่ก็มีสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่สังเกตได้
บทความจากโรงพยาบาลศิริราช ระบุเกี่ยวกับสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ไว้ดังนี้
- มีอาการเจ็บหน้าอก เช่น บีบเค้นหน้าอกเหมือนมีของหนักกดทับ เจ็บหน้าอกร้าวไปกราม ขากรรไกร คอ แขน ไหล่ หลัง เจ็บหน้าอกร่วมกับเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น เจ็บหน้าอกนานกว่า 20 นาที
- นอกจากนี้ยังมีอาการเหนื่อยง่าย ความสามารถในการออกกำลังกายลดลง มีภาวะหัวใจล้มเหลว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเป็นลมหมดสติ