แม้ ส.ส.จะไหลออกจากพรรคไปจำนวนมาก และแม้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม น้องรักจะไม่อยู่นำไปเร่ขาย แต่ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังยืนหยัดที่จะทำพรรคต่อ
ขณะเดียวกัน ยังมีการปรับยุทธศาสตร์พรรค ลดขนาดจากขนาดใหญ่ให้เป็นไซส์ ‘เอสเอ็มอี’ เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ เน้น ‘คุณภาพ’ มากกว่า ‘ปริมาณ’ กล่าวคือ เน้นในพื้นที่หวังผลได้ ไม่หว่านแบบเปล่าประโยชน์
จุดมุ่งหมายของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือ การเป็น ‘พรรคตัวแปร’ ที่ไม่ว่าการเมืองขั้วไหนต่างจำเป็นต้องมีเอาไว้ นั่นเพราะ ‘บิ๊กป้อม’ มีออปชันเสียง ส.ว.เหมือนกับ ‘บิ๊กตู่’
ถึงขนาดกล่าวกันว่า ต่อให้ ‘บิ๊กตู่’ ล้มเหลวในการเลือกตั้ง ไปต่อไม่ได้ แต่สำหรับ ‘บิ๊กป้อม’ ยังมีทางเดินต่อเสมอ
จะเห็นว่า ยังมีนักการเมืองหลายก๊วนที่ขอปักหลักสวมเสื้อคลุม ‘ตราไก่’ สัญลักษณ์ ‘ทีมลุงป้อม’ อันล้อมาจากปีนักษัตร ‘ระกา’ ปีเกิดของ ‘พล.อ.ประวิตร’ ที่นักการเมือง นายทหารคนสนิท และคณะทำงานมักสวมใส่ให้เห็นว่าคนของใคร
ซึ่งหลายก๊วนจัดเป็น ‘บ้านใหญ่’ ของจังหวัดที่มีฐานเสียงแน่น มีคะแนนตัวบุคคล ไม่ได้พึ่งกระแสพรรค และไม่มีผลกระทบกับการจากไปของ ‘บิ๊กตู่’
โดยข้อมูล ณ ปัจจุบัน ก๊วนที่ขอแทงหวย ‘ลุงป้อม’ ยังอยู่ในยูนิฟอร์ม ‘พลังประชารัฐ’ มีดังนี้
บ้านรัตนเศรษฐแห่งโคราช
‘บ้านรัตนเศรษฐ’ ของ ‘เสี่ยปาน’ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นตระกูลที่มี ส.ส.มากที่สุดในพรรค แต่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ไป 3 คน จากคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย นายวิรัช, นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ภรรยานายวิรัช, นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเศรษฐกิจไทย น้องสาวนางทัศนียาที่จะกลับมาอยู่กับพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ส่วนคนที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้แก่ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ลูกชายคนโตนายวิรัช, นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ลูกชายคนรองนายวิรัช, นางวลัยพร รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ น้องสาวนายวิรัช
โดยการเลือกตั้งครั้งหน้า นายวิรัชได้วางทายาททางการเมืองไว้ โดยการส่งลูกชายคนเล็กคือ นายตติรัฐ รัตนเศรษฐ เลขานุการ รมช.คมนาคม และนางอรัชมน รัตนเศรษฐ ภรรยานายอธิรัฐ ลง ส.ส.แบบแบ่งเขต
นายวิรัชถือเป็นนักการเมืองชาญสนามเลือกตั้ง โดยเฉพาะ จ.นครราชสีมา มาหลายยุคหลายสมัย ดังนั้นอยู่ที่ว่าจะพา ส.ส.เข้าสภาในรอบหน้าได้เท่าไหร่
ก๊วนมะขามหวาน
‘ก๊วนมะขามหวาน’ เป็นก๊วนที่ถูกจับตามองอย่างมากในตอนแรกว่าจะตาม ‘บิ๊กตู่’ ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนที่สุดท้าย ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.คลังและเลขาธิการพรรคจะตัดสินใจปักหลัก หลัง ‘บิ๊กป้อม’ ส่งสัญญาณว่ายังให้บทบาทในการบริหารพรรคเหมือนเดิม
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายสันติสามารถพาทีมกวาด ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ยกจังหวัด 5 ที่นั่ง ได้แก่ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์, นายจักรัตน์ พั้วช่วย, นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์, นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ และนายเอี่ยม ทองใจสด ปัจจุบันมี ส.ส.ในกลุ่ม 6 คน คือ นายสันติ ซึ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีเขตเพิ่มเข้ามาอีก ‘ก๊วนมะขามหวาน’ ถือเป็นก๊วนที่ตัว ส.ส.มีคะแนนของตัวเองโดยไม่ได้ยึดโยงกับพรรคการเมืองต้นสังกัดเท่าไหร่ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการไม่อยู่ของ ‘บิ๊กตู่’
บ้านใหญ่ปากน้ำ
กลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้าของ ‘เอ๋’ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการ เกือบจะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากไม่ลงรอยกับ ‘เสี่ยเฮ้ง’ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานและอดีต ผอ.พรรคพลังประชารัฐ กระทั่งคู่กรณีได้ย้ายออกจากพรรคไป ลดความอึดอัดไประดับหนึ่ง
และอีกสิ่งที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ ‘กลุ่มปากน้ำ’ ยังไม่ทิ้ง ‘ลุงป้อม’ คือ กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล ‘เอ๋-ชนม์สวัสดิ์’ ในคดีเงินอุดหนุนวัดตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนายก อบจ.
นอกจากนี้ ‘บิ๊กป้อม’ ยังรักษาคำมั่น มอบเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ให้กับนายสุนทร ปานแสงทอง ‘โควตากลุ่มปากน้ำ’ จึงทำให้ไม่กล้าแยกตัวไปในตอนนี้
ปัจจุบันมี ส.ส. 6 คน ได้แก่ นายอัครวัฒน์ อัศวเหม, นายยงยุทธ สุวรรณบุตร, น.ส.ภริม พูลเจริญ, นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ, นายกรุง ศรีวิไล สุทินเผือก และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 คน คือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้า จ.สมุทรปราการจะมี ส.ส.เพิ่มขึ้น หากก๊วนนี้ยกจังหวัดได้ จะบวกให้กับพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก
ก๊วนชากังราว
กลุ่ม ส.ส.กำแพงเพชร ภายใต้การนำของ ‘วราเทพ รัตนากร’ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถูกจับจ้องว่าจะขนของออกจากพรรคพลังประชารัฐ
โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายวราเทพสามารถกวาด ส.ส.ได้ยกจังหวัด 4 ที่นั่ง ได้แก่ นายไผ่ ลิกค์, นายปริญญา ฤกษ์หร่าย, นายอนันต์ ผลอำนวย, พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ (ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อม นายเพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ ชนะเลือกตั้ง) บวกกับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 1 ที่นั่ง คือ นายสุรสิทธิ์ วงศ์วิทยานันท์ รวมเป็น 5 ที่นั่ง
ก่อนนายวราเทพจะมีปัญหากับนายไผ่ ซึ่งเป็นบ้านใหญ่เก่า เรื่องสนามเลือกตั้งนายก อบจ.กำแพงเพชร ทำให้เป็นเขตเดียวที่นายวราเทพไม่สามารถคอนโทรลได้
ท่าทีของ ‘ก๊วนชากังราว’ เริ่มชัดเจนว่าจะอยู่ต่อ หลัง ‘บิ๊กป้อม’ ประกาศต่อหน้า ส.ส.กำแพงเพชร ระหว่างลงพื้นที่ว่าจะให้ ‘วราเทพ’ ดูแลทั้งหมด ปัจจุบันนายวราเทพเป็นคีย์แมนคนสำคัญเรื่องเศรษฐกิจให้กับพรรคในเบื้องหลัง
บ้านใหญ่สระแก้ว
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ‘กำนันกี’ ขวัญเรือน เทียนทอง มารดาของ ‘ครูเหน่ง’ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ สถาปนาความยิ่งใหญ่ให้กับ ‘เทียนทอง’ อีกสาย ด้วยการกวาด ส.ส.ยกจังหวัด 3 ที่นั่ง ได้แก่ น.ส.ตรีนุช, นายฐานิสร์ เทียนทอง และนายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ปราบ ‘เทียนทอง’ สายเก่าของ ‘เสนาะ เทียนทอง’ อดีตแกนนำวังน้ำเย็นราบคาบ
หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งใหญ่ ‘บิ๊กป้อม’ ได้ตบรางวัลให้กับ ‘กำนันกี’ ด้วยการมอบตำแหน่งเกรดเอ รมว.ศึกษาธิการให้กับ ‘ครูเหน่ง’ ซึ่งเป็น ส.ส.มาหลายสมัย
การปูนบำเหน็จครั้งนั้นเหมือนจะมัดใจ ‘บ้านกำนันกี’ ให้ยังลงหลักปักฐานกับ ‘ลุงป้อม’ ต่อ
มุ้งเล็กเมืองสิงห์
แม้ จ.สิงห์บุรีจะเป็นจังหวัดที่มี ส.ส.เพียงคนเดียว แต่รอบตัว ‘เสี่ยโอ๋’ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างเป็นนักการเมืองที่ผ่านการเป็น ส.ส.มาแล้วหลายคน
เดิมท่าทีนายชัยวุฒิดูจะปันใจไปทาง ‘บิ๊กตู่’ แต่เมื่อไม่มีปฏิกิริยาว่าอยากจะได้เขาไปเป็นขุนศึก จึงตัดสินใจเคียงข้าง ‘ลุงป้อม’ ต่อ
ก๊วนผู้กองธรรมนัส
เมื่อไม่มี ‘บิ๊กตู่’ แล้ว ‘บิ๊กป้อม’ จึงไม่ต้องลำบากใจที่จะกลับมาเรียกใช้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับ ร.อ.ธรรมนัสที่พร้อมจะกลับมาทำงานกับพรรคที่ปราศจาก ‘บิ๊กตู่’
หลังสัญญาณชัดเจนว่าไม่มี ‘บิ๊กตู่’ แน่ ร.อ.ธรรมนัสได้เริ่มเคลื่อนย้าย ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยกลับสู่พรรคพลังประชารัฐทีละคนสองคน เพื่อมาช่วยงาน ‘บิ๊กป้อม’ แล้ว
ส.ส.ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและอีสาน ได้แก่ ร.อ.ธรรมนัส, นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายจีระเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, นายไผ่ ส.ส.กำแพงเพชร, นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก, นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร, นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น, น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร, พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ขณะที่ ‘กลุ่มสามมิตร’ ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมและรองหัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและประธานยุทธศาสตร์พรรค และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลายเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจับตาไปยันโค้งสุดท้าย เพราะต้องการเช็กความชัวร์ว่าจะไม่เลือกค่ายผิด และมีประโยชน์กับมุ้งที่สุด
อย่างไรก็ดี เหล่านี้คือ ‘มุ้งใหญ่’ ที่ว่ากันว่าแน่นในพื้นที่ ซึ่งหากพรรคพลังประชารัฐสามารถกวาดต้อนได้หมดจะเป็นขุมกำลังที่น่ากลัว และ ‘ตัวแปร’ สำคัญแน่นอน
เพียงแต่ต้องดูจนถึงเดดไลน์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เพราะมักจะเห็นหลายคนเปลี่ยนใจแบบเส้นยาแดงผ่าแปดในวินาทีสุดท้ายอยู่บ่อยๆ.