ศบค. รายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ 4,803 ราย จากเรือนจำ 2,702 ราย โดยพบ 2 เรือนจำในพื้นที่ จ.นนทบุรี รวม 2,450 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย กทม. ยังมากสุด 21 ราย – 3 จังหวัดพบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงาน – 28 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว – สธ.เร่งสอบข้อเท็จจริงกรณีหญิงเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์
29 พ.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,803 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,101 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 2,702 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 149,779 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 4,439 ราย สะสม 102,311 ราย กำลังรักษาอยู่ 46,480 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 18,720 ราย และโรงพยาบาลสนาม 27,760 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,221 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 406 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 ราย รวมเสียชีวิต 988 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 4,803 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,421 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 629 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 2,101 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 51 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 34 ราย ชาย 18 ราย หญิง 16 อยู่ใน กทม. 21 ราย ปทุมธานี เชียงราย สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ นนทบุรี อยุธยา ราชบุรี สงขลา สระบุรี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยหลักเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค มีความดันโลหิต เบาหวาน ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว อายุค่ากลาง 66 ปี อายุน้อยสุด 35 ปี อายุมากสุด 87 ปี นอนนานสุด 36 วัน
สำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 51 ราย มาจากซาอุดิอาระเบีย 3 ราย เซอร์เบีย 1 ราย กัมพูชา 47 ราย ซึ่งยังพบผู้ลักลอบเข้าช่องทางธรรมชาติ 1 ราย
สถานการณ์ในไทย การพบเชื้อในจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูง ยังคงใกล้เคียงเดิมใน พื้นที่กทม. ปริมณฑล ยังคงพบผู้ป่วย คิดเป็น 78% ของทั้งหมด กรณีของในเรือนจำมีเพิ่มใน เรือนจำในพื้นที่ จ.นนทบุรี รวม 2,450 ราย จาก 2 เรือนจำ แบ่งเป็น เรือนจำบางขวาง 481 ราย เรือนจำนนทบุรี 1,969 ราย มีการจัดทำรพ.สนามในเรือนจำ สถานการณ์ยังคงจัดการได้ การค้นหาเชิงรุกยังคงทำอยู่ในพื้นที่เรือนจำ จึงทำให้พบกลุ่มก้อนผู้ป่วยจำนวนมาก โดยวันนี้มี 28 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในวันนี้ อีก 30 จังหวัดที่พบผู้ป่วย 1-10 ราย
คลัสเตอร์ต่าง ๆ เขตบางกะปิ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะตลาดบางกะปิ ยอดสะสม 453 ราย คลองเตยยังคงพบผู้ป่วยต่อเนื่อง จ.มหาสารคาม มีพบคลัสเตอร์ใหม่ในมหาวิทยาลัย จ.เพชรบุรี คลัสเตอร์ใหม่โรงงานผลิตรองเท้าที่เขาย้อย จ.ชลบุรี คลัสเตอร์ใหม่ที่บางทราย จ.ตรัง พบในโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์
สรุปสถานการณ์โควิด-19 การพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องแนวโน้มคงที่ ทั้งกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด พบในกลุ่มก้อนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มก้อนเดิม เริ่มพบในโรงงานประเภทหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ป่วยหนักค่อนข้างคงที่ แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบผู้ติดเชื้อผ่านชายแดนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัมพูชา รวมถึงสถานที่เสี่ยงยังคงเป็นโรงงาน ตลาด แคมป์คนงาน ชุทชนแออัด ปัจจัยเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันที่ 29 พ.ค. 2564 คือ 1. กรุงเทพมหานคร 1,054 ราย 2. สมุทรปราการ 215 ราย ราย 3. นนทบุรี 186 ราย 4. ชลบุรี 80 ราย 5. ปทุมธานี 65 ราย 6. เพชรบุรี 64 ราย 7. สมุทรสาคร 43 ราย 8. ตรัง 37 ราย 9. สงขลา 31 ราย 10. นครปฐม 26 ราย
ขณะที่ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือน เม.ย. เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 120,916 ราย หายป่วยสะสม 74,885 ราย เสียชีวิตสะสม 894 ราย
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 170,126,628 ราย อาการรุนแรง 93,398 ราย รักษาหายแล้ว 151,955,896 ราย เสียชีวิต 3,537,568 ราย
อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 34,022,657 ราย 2. อินเดีย จำนวน 27,719,431 ราย 3. บราซิล จำนวน 16,392,657 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,646,897 ราย 5. ตุรกี จำนวน 5,228,322 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 84 จำนวน 149,779 ราย
คลัสเตอร์ใหม่ 3 จว.ระบาดในโรงงาน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนต่างจังหวัด พบว่า จ.นนทบุรี ตัวเลขมาจากพื้นที่แคมป์ก่อสร้างเพิ่ม 122 คน รวมตัวเลขสะสม 697 คน ส่วนจ.สมุทรปราการ โรงผลิตอาหารสำเร็จรูปจากสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ เป็นชาวไทยและเมียนมา ติดเชื้อเพิ่ม 44 คน รวมตัวเลขสะสม 278 คน จ.ตาก บ้านผาผึ้ง เป็นผู้สัมผัสในชุมชนเพิ่ม 6 คน ตัวเลขสะสม 51 คน
ส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ อ.หัวหิน โรงงานสับปะรดกระป๋อง ชาวไทยและเมียนมา 11 คน รวมตัวเลขสะสม 89 คน
นอกจากนี้มี จ.ระนอง แรงงานแพปลา ชาวเมียนมา 5 คนรวมตัวเลขสะสม 606 คน และจ.นราธิวาส สัมผัสในชุมชน เพิ่ม 19 คน รวมตัวเลขสะสม 134 คน
ขณะที่ จ.มหาสารคาม พื้นที่ อ.กันทรวิชัย พบในมหาวิทยาลัยของรัฐ ติดเชื้อ 11 คน ส่วนจ.เพชรบุรี กระจายใน 10 อำเภอ โรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชาวไทย เมียนมา กัมพูชา อินเดีย และจีน ติดเพิ่ม 30 คน รวมตัวเลขสะสม 3,207 คน
“นอกจากนี้ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ที่ อ.เขาย้อย เป็นโรงงานผลิตรองเท้า ติดเชื้อแล้ว 21 คน ส่วนที่จ.ชลบุรี พื้นที่อ.เมือง ชุมชนบางทราย แรงงานไทย เมียนมา กัมพูชา ติดเชื้อแล้ว 32 คน และ จ.ตรัง อ.กันตัง โรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ติดเชื้อแล้ว 36 คน”
28 จังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว
ส่วนจังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 28 จังหวัด คือ สระแก้ว อุบลราชธานี พิษณุโลก ลำพูน ลำปาง ลพบุรี อ่างทอง สุรินทร์ นครพนม ยโสธร ตราด น่าน สุโขทัย ชุมพร สิงห์บุรี พะเยา เลย แพร่ อุตรดิตถ์ ชัยนาท หนองคาย พังงา อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู มุกดาหาร อุทัยธานี และสตูล
ส่วน 30 จังหวัดกลุ่มสีเขียว ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 1-10 คน ได้แก่ ศรีสะเกษ จันทบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครศรีธรรมราช ระนอง อุดรธานี เชียงราย นครสวรรค์ กระบี่ เพชรบูรณ์ ภูเก็ต นครนายก พิจิตร กำแพงเพชร สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ยะลา ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ บึงกาฬ ระยอง พัทลุง ปัตตานี ชัยภูมิ สกลนคร กาฬสินธุ์
“ภาพรวมถือว่าเกินครึ่งของประเทศแล้ว อยากให้คงตัวเลขนี้ ถ้าเป็นศูนย์อย่างน้อย 14 วัน จะลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และขอแรงดูแลพฤติกรรมส่วนตัว ผู้ประกอบการดูแลเชิงพื้นที่”
สธ.เร่งสอบข้อเท็จจริงกรณีหญิงเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเสียชีวิตของเพื่อน หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค ประมาณ 2 สัปดาห์ ว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ขณะนี้ศูนย์ประสานงานฯ AEFI ของโรงพยาบาลหาดใหญ่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ประวัติการรักษา เพื่อเสนอต่อคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจังหวัดสงขลา กำหนดประชุมร่วมกันในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 เพื่อสรุปสาเหตุการเสียชีวิต ตามระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค (Adverse Events Following Immunization : AEFI) ที่วางไว้
อย่างไรก็ตาม จะต้องรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติมตามแนวทางปฏิบัติการเฝ้าระวัง AEFI กรณีที่มีผู้เสียชีวิต โดยประสานขออนุญาตครอบครัวทำการพิสูจน์ศพ หรือการตรวจศพ โดยการเอกซเรย์ และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต รวมทั้งติดตามผู้รับวัคซีนในลอตเดียวกัน โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยข้อสรุปจากคณะกรรมการ AEFI จังหวัด จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ AEFI ระดับประเทศ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและสังคมต่อไป
ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคของทีมสอบสวนควบคุมโรคระบาดวิทยา รพ.หาดใหญ่ ผู้เสียชีวิตเป็นหญิง อายุ 32 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ หลังฉีดสังเกตอาการ 30 นาที ไม่มีอาการผิดปกติ ไลน์หมอพร้อมติดตามอาการวันที่ 1 มีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ วันที่ 7 หลังฉีด มีอาการปวดศีรษะ เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เช้าวันที่ 27 พ.ค. หมดสติ รถพยาบาลส่งห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์ประเมินอาการแรกรับ มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ได้ช่วยฟื้นคืนชีพ ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา แพทย์วินิจฉัยมีภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดเฉียบพลัน
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ในการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีไข้ ไม่มีอาการป่วย ดื่มน้ำให้เพียงพอ และแจ้งประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน โรคประจำตัว ให้แพทย์ทราบ สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ ส่วนใหญ่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปหลังการฉีดวัคซีน เช่น เจ็บ บวม มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ส่วนอาการแพ้วัคซีนรุนแรง จะเหมือนคนแพ้อาหารทะเล ไรฝุ่น โปรตีนในนมวัว มีอาการตั้งแต่แพ้ไม่มาก มีผื่น จนถึงความดันตกรุนแรงได้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มักพบหลังการฉีด 15 นาที
‘หมอพร้อม’ หยุดจองฉีดวัคซีนตั้งแต่ 31 พ.ค. ส่วนคนนัดหมายไว้ยังเหมือนเดิม
29 พ.ค. 2564 เฟสบุ๊ค “หมอพร้อม” ออกประกาศการใช้งานผ่านหมอพร้อมว่า
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ ศบค. และสอดคล้องกับการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ระบบหมอพร้อมจะหยุดให้บริการจองคิวฉีดวัคซีนโควิดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับประชาชนทุกกลุ่มที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ดังนี้
1. พื้นที่กรุงเทพฯ ให้ใช้ระบบของกรุงเทพมหานคร หรือระบบอื่นที่เปิดบริการ
2. ต่างจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ดำเนินการผ่าน
2.1 อสม./ รพ.สต./ โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน (ไม่จำเป็นต้องมีประวัติ)
2.2 ระบบออนไลน์ (แอปพลิเคชัน/ เว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ) ของจังหวัด
2.3 หมอพร้อม LINE OA/ แอปพลิเคชันหมอพร้อม เมื่อเปิดให้บริการอีกครั้ง
สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ที่ทำการนัดหมายไว้แล้วสามารถไปรับการฉีดวัคซีนได้ตามกำหนดเดิม
อนึ่ง ระบบหมอพร้อม ยังใช้งานได้ตามปกติสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ในการแสดงข้อมูลหลังการฉีดวัคซีน แจ้งนัดหมายในการฉีดเข็มที่ 2 และการเป็นหลักฐานประกอบการขอใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด
สอบถามเพิ่มเติม Call Center : 02 792 2333
ที่มาเรียบเรียงจาก: ผู้จัดการออนไลน์ | Thai PBS | สำนักข่าวไทย