กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์
ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา
“กริช” เริ่มต้นบทสนทนา โดยเล่าว่า ทำธุรกิจหลายอย่าง มีโรงแรม ขนาด 72 ห้อง 1 แห่ง, อพาร์ตเมนต์ 8 แห่ง, ร้านอาหาร 19 ร้าน, ธุรกิจจัดงานแต่งงาน ซึ่งมีบ้านทรงไทยเป็นสถานที่จัดงาน 2 แห่ง, ธุรกิจส่งออก เช่น ข้าว อาหาร ผัก-ผลไม้สด สินค้าอุปโภคบริโภค และบ้านพักคนชรา 1 แห่ง รวมพนักงานกว่า 200 ชีวิต
“ตอนนี้ รายได้ของทุกธุรกิจรวมกันเหลือแค่ 30% เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นเหมือนกันหมดทั้งโลก นโยบายของผมคือ ต้องประคองตัวเองให้อยู่รอด และมีเงินจ่ายพนักงาน”


ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งหมด บางธุรกิจมีรายได้เป็นศูนย์ ซึ่งต้องวางแผนปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเลี้ยงพนักงานให้ได้ อย่างธุรกิจโรงแรม ในช่วงปกติ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างประเทศ มีอัตราเข้าพัก 100% แต่ช่วงโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 63 ได้ปรับรูปแบบโรงแรมทำเป็น Alternative State Quarantine (ASQ) โดยคิดค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด ประมาณ 30,000 บาทต่อ 14 วัน ขณะที่ ASQ อื่น ราคาอยู่ 40,000 บาทไปจนถึงหลักแสนบาท
“การใช้กลยุทธ์คิดค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก และพยายามลดต้นทุนการบริหารจัดการโรงแรมให้มากที่สุด ทำให้โรงแรมเรามีอัตราเข้ามากักตัวเต็มทุกห้องนานถึง 7-8 เดือน แต่พอมาระยะหลัง มี ASQ มากขึ้น โรงแรมเราก็มีคนมากักตัวน้อยลง และรายได้หายไปกว่า 50% จากช่วงปกติ”

ส่วนธุรกิจอพาร์ตเมนต์ มี 8 แห่งในกรุงเทพฯ ผู้พักส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และคนทำงาน ช่วงปกติ มีลูกค้าเต็มทุกห้อง ทุกอพาร์ตเมนต์ แต่ขณะนี้เหลือคนเข้าพักเพียง 40-50% ซึ่งมียอดค้างค่าเช่าจำนวนมาก เราก็ต้องช่วยเหลือกันไป แต่มีบางรายที่ทิ้งห้อง แล้วหนีหายไปเลย
สำหรับธุรกิจรับจัดงานแต่งงาน มีรายได้เป็นศูนย์มาตั้งแต่เริ่มต้นการระบาด ถือว่าแย่ที่สุด แต่ก็บอกให้พนักงานเตรียมวางแผนการตลาดไว้ล่วงหน้าเมื่อโควิดคลี่คลาย ส่วนธุรกิจร้านอาหาร ล่าสุดเปิดได้เพียง 4 ร้าน ยอดขายย่ำแย่ เหลือประมาณ 10% หรือร้านละ 2,000-3,000 บาท/วัน จาก 20,000-30,000 บาท/วัน

ขณะที่ธุรกิจส่งออกข้าวหอมมะลิ ตลาดหลักอยู่ที่ยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง ออเดอร์หายไปมาก เหลือไม่ถึง 10% จากช่วงปกติ ต้องแก้ปัญหาด้วยการทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น แต่ยอดขายก็ชดเชยกับที่หายไปไม่ได้ ส่วนธุรกิจส่งออกอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคไปซีแอลเอ็มวี ยุโรป และอเมริกา ยอดขายหายไปมากเช่นกัน เช่น ช่วงปกติ ส่งออกผักสดและผลไม้ทางเครื่องบิน สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 2 ตู้ แต่ขณะนี้เหลือ 1-2 วัน และวันละ 1 ตู้ มิหนำซ้ำ ค่าขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 200% อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และผลกระทบจากความไม่สงบในเมียนมาอีก
นอกจากนี้ ยังมีบ้านพักคนชราอีก 1 แห่ง ที่สร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิด ซึ่งกำลังคิดว่า หากโรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ ก็อาจจะเปิดเป็นโรงพยาบาลสนาม เพราะมีอุปกรณ์ทุกอย่างครบครันแล้ว
“ทนได้ก็ทนไป ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ตลอดปีกว่าไม่เคยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเลย เพราะคิดว่า รัฐบาลมีคนต้องช่วยเยอะอยู่แล้ว ต้องแบ่งๆกันไป ต้องไปให้ได้ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”
“กริช” มีคำแนะนำสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ทำอย่างไรจึงจะอยู่รอดได้ดีที่สุดคือ รัดเข็มขัดตัวเองเข้าไว้ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และเลี้ยงลูกน้องไว้ให้ได้ เพราะทรัพยากรบุคคลสำคัญมาก กว่าจะทำงานได้จนมีประสบการณ์ ต้องใช้เวลานาน ถ้าเสียไป การเริ่มสอนใหม่จะลำบาก

และแม้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ แต่ตนก็ยังไม่ได้ปลดพนักงานเลย มีแค่ลดเงินเดือน และโยกพนักงาน ในแต่ละธุรกิจ เช่น พนักงานขาย พ่อครัวแม่ครัว มาร์เกตติ้ง ผู้จัดการร้านอาหาร ไปทำงานที่บ้านพักคนชรา อย่างทำสวน ดายหญ้า ทำความสะอาด แม้เป็นการใช้คนไม่ตรงกับงาน แต่ทุกคนก็ไม่เกี่ยง แค่ให้มีงานทำ มีเงินเดือนใช้ก็พอ
“ผมว่า ผมน่าจะรอดนะ เพราะได้ปรับตัว ลดค่าใช้จ่าย และยังเตรียมกู้เงินซอฟต์โลนจากเอ็กซิมแบงก์ 15 ล้านบาท เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจ และจ่ายเงินเดือนพนักงาน เพราะทุนร่อยหรอแล้ว แต่ถ้าโควิดยังไม่จบใน 1–2 ปีนี้ ก็อาจต้องเลย์ออฟพนักงาน และขายบางธุรกิจ เช่น อพาร์ตเมนต์ แต่น่าจะขายยาก”

นุชรีย์ เสมอเหมือน
แม่ค้าโจ๊กสู่ดาว TIKTOK
“แม่เนื้อแน่น” นุชรีย์ เสมอเหมือน หญิงสาวคิดบวกวัย 30 ปี แม่ค้าโจ๊กมือใหม่ย่านนวมินทร์ 163 ที่แปลงความทุกข์จากการขายโจ๊กในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดร้านในยุคโควิดได้เฉลี่ยวันละ 3- 5 ถุง ออกมาเป็นคลิปที่สร้างความสุขและรอยยิ้มให้กับผู้ติดตามใน TIKTOK ที่ใช้ชื่อว่า INTHEVAN จนทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศ ยอมออกจากบ้านฝ่าโควิดไปซื้อโจ๊ก ทั้งเพื่อซื้อทานเองและซื้อไปแจกผู้คนที่ลำบาก หวังช่วยอุดหนุนแม่ค้าโจ๊กจนขายดิบขายดี
จนทำให้เธอน่าจะได้เป็น 1 ใน “ผู้รอด” ในท่ามกลางวิกฤติโควิดครั้งนี้ เพราะเธอยังได้อาชีพใหม่ควบคู่กับการขายโจ๊ก เมื่อบรรดาแบรนด์สินค้า ตลอดจนแม่ค้าออนไลน์ส่งสินค้ามาให้เธอรีวิวในเพจและ TIKTOK ของเธอ
“แม่เนื้อแน่น” บอกกับ “ทีมเศรษฐกิจไทยรัฐ” ว่า “หนูไม่เคยยอมแพ้กับมัน หนูอดทน คิดตลอดว่าหนูต้องอยู่รอด หนูพยายามมองโลกกลับด้าน มองปัญหาให้เป็นความสุข ไม่ใช่มองแล้วเป็นทุกข์ ถ้าหนูเครียด ทุกคนในบ้านจะเครียด และเป็นทุกข์กันหมด หาแง่มุมที่ดีกับสิ่งที่ “มันเกิดขึ้นแล้ว” มันยากนะ แต่เราต้องทำ ต้องเปลี่ยนความคิด”

แม่เนื้อแน่นเล่าว่า เธอทำงานเป็น staff ทัวร์ท่องเที่ยวในประเทศ เป็นผู้ช่วยไกด์ ที่โดนผลกระทบจากโควิดเต็มๆ ทั้งระลอก 1-2 และระลอก 3 นี้ วิกฤติสุดๆ ขาดรายได้ ต้องนำเงินเก็บมาใช้จ่ายจนเริ่มร่อยหรอ ตัดสินใจแบ่งเงินก้อนสุดท้ายที่เหลือ 20,000 บาท มาเช่าที่เปิดร้านขายโจ๊กตอนเช้า ตอนเย็นขายลูกชิ้นปิ้ง หวังมีรายได้มาใช้จ่าย แต่ปรากฏว่า ไม่รอดสักอย่าง จึงเปลี่ยนจากลูกชิ้นปิ้งมาขายหม่าล่าปิ้งแทนในตอนเย็น แต่ยังขายโจ๊กตอนเช้า
ระหว่างที่นั่งขำกับชะตาชีวิตแม่ค้าโจ๊ก แฟนหนุ่มของเธอได้ถ่ายคลิปวิดีโอที่เธอปลอบใจตัวเอง พูดคนเดียวกับ “ลูกค้าทิพย์” นำไปตัดต่อโพสต์ลง TIKTOK ด้วยความตั้งใจเพียงอยากให้คนเห็นสิ่งที่เราเป็นเหมือนกับที่เขาเห็น ถึงการมองโลกในแง่ดี สนุกสนานของเรา ท่ามกลางวิกฤติของชีวิต จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ และทำให้เธอได้โอกาสที่ดีมากมาย ร้านโจ๊กขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เธอยังคงราคาประหยัด ธรรมดา 25 บาท ใส่ไข่ 30 บาท ไข่เค็ม-ไข่เยี่ยวม้า 40 บาท เธอบอกว่าขายราคาสูงไม่ได้ เพราะถ้าคนซื้ออยู่รอด เราก็อยู่รอดได้
เธอบอกว่า ความไม่ยอมแพ้ต่อชะตาชีวิต เธอสู้มาทุกอย่างแล้ว ระหว่างทำทัวร์ เธอทำแซนด์วิชขาย ขายน้ำผลไม้ ขายปลาเส้นงานเทศกาลปลาสิงห์บุรี ไปไม่รอดสักอย่าง กลับบ้านไปซบอกแม่ที่อ่างทอง ขายน้ำอิตาเลียน โซดา หน้าโรงเรียน ขายดิบขายดีในช่วงแรก เพราะเป็นของใหม่ในละแวกนั้น ดีได้ไม่ถึงเดือน กลับอีหรอบเดิมไปต่อไม่ได้

“แม่เนื้อแน่น” ยังแชร์แนวคิดการจัดสรรเงินลงทุนในแต่ละธุรกิจของตัวเองว่า ตั้งแต่เกิดโควิดและเห็นสัญญาณการตกงาน เธอเป็นคนที่จะออมก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง และในการลงทุนเป็นแม่ค้าของเธอก็เช่นกัน
เธอบอกว่า สาเหตุที่ไม่เคยหมดทุน เพราะเธอจะใช้วิธีวางแผนกันเงินลงทุน เช่น ช่วงที่ขายโจ๊ก เธอรู้ว่า ช่วงแรกยังไม่มีลูกค้าคงขายไม่ได้และขาดทุน เธอจะซื้อข้าวเหนียวมาทำโจ๊กแค่วันละ 1 กิโลกรัม ขายได้ 5 ถุง เธอก็กันเงินที่ขายได้ออกมาเป็นทุนวันพรุ่งนี้ 100 บาท เธอต้องมีทุนสำรองต่อทุนทุกวัน ไม่ให้ทุนหายกำไรหด อุปกรณ์ต่างๆ เธอก็ซื้อของมือ 2 ไม่ เหมือนหลายๆคนที่ทุ่มเงินลงทุนไปหมด พอขาดทุน ขายไม่ได้ก็ไม่มีเงินมาลงทุนเพิ่ม และท้อถอย
ปิดท้าย เธอขอให้กำลังใจกับทุกคน ให้อดทน คิดเสมอว่าเราต้องรอด และพยายามหาทางรอดให้ตัวเอง อย่ามัวจมอยู่กับความทุกข์ ตอนนี้ทุกคนเจอทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน ว่างงาน เงินเดือนลด และยังต้องหวาดกลัวกับโรคภัยอีก ขอให้ทำใจ และคิดว่า “ทุกอย่างมันจะเบาถ้าเราไม่แบก”

“สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง”
อดีตเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็กรายใหญ่ของประเทศ
เจ้าของวลีสะท้านหัวอกเจ้าหนี้ “ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย” ผู้รอดจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 บอกทางรอดในวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ว่า วิกฤติครั้งนี้มันหนักหนากว่าวิกฤติครั้งไหนๆ ของประเทศไทย และของโลก เศรษฐกิจย่ำแย่ผู้คนตกงาน เทียบไม่ได้เลยกับวิกฤติต้มยำกุ้ง หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้วันนี้ผมบอกไม่ได้เลยว่า “ทางรอด” คืออะไร
บอกได้คำเดียวว่า ใครที่พอมีเงินสด ให้ “กอดเงินสด” ไว้ โชคดีที่รอบนี้ รัฐบาลขอให้สถาบันการเงินงดจ่ายเงินต้น-ดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการและลูกหนี้ทั่วไป เป็นเวลา 6 เดือน แต่ต้มยำกุ้งรอบที่แล้ว เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยเพิ่มทุกวัน!!
แต่จากที่ผมได้คุยกับผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจ ต่างเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า วิกฤติรอบนี้กว่าจะกลับมาเหมือนเดิม มันกินเวลามากกว่า 6 เดือนแน่ๆ ดังนั้น 6 เดือนที่ลูกหนี้ได้ยืดเวลาคงไม่พอแน่
ส่วนลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้นอกระบบ ที่ดอกเบี้ยขูดเลือดขูดเนื้อ “ต้องหยุดจ่ายหนี้” ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยและรัฐบาลต้องเข้ามาจัดการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างเด็ดขาด เพราะมันผิดกฎหมายตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว หนี้นอกระบบทำให้ลูกหนี้ต้องตายจากการถูกไล่บี้ทวงตามหนี้ ผมขอให้รัฐบาลเข้าไปช่วย อย่ารอให้ลูกหนี้ต้องฆ่าตัวตายหนีหนี้ และผมขอบอกไปถึงลูกหนี้เหล่านี้ด้วยว่า ต้องหยุดจ่ายหนี้นอกระบบ อย่าหาทางออกโดยการฆ่าตัวตาย วันนึงทุกอย่างจะต้องดีขึ้นคลี่คลายขึ้นอดทนไว้

วันนี้ยังไม่มี “กูรู” คนไหนบอกได้เลยว่า เศรษฐกิจจะฟื้นคืนกลับมาได้เมื่อไหร่ ดังนั้น ใครมีเงินสดให้ “กอดไว้” รอเวลาที่เศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นจึงค่อยเอาเงินนี้ออกมาลงทุน ผมมีทางรอดแค่นี้ ครั้งที่ผมเจอวิกฤติเจ้าหนี้ขึ้นดอกเบี้ยทุกวัน เงินกู้ไม่มีจ่าย ผมบอกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ไปเลย ยึดธุรกิจไปเลย ผมไม่ยึดติดว่าเราสร้างมา ต้องเป็นของเรา ผมไม่คิดเช่นนั้น ผมถือว่าทำธุรกิจโดยมีเงินทุนของเราส่วนหนึ่ง อีกส่วนเป็นเงินทุนจากการกู้ยืมธนาคารมา เราสร้างธุรกิจมา เมื่อธุรกิจประสบปัญหาจากวิกฤติเศรษฐกิจธนาคารจะยึดโรงงานยึดธุรกิจของเราไป จะแปลงหนี้ที่มีอยู่เป็นทุน 90% ธนาคารกลายเป็นเจ้าของผมต้องยอม เพราะถือว่าธนาคารก็ร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจกับเราตั้งแต่แรก
แม้ผมจะบอกว่าไม่มีไม่หนีไม่จ่าย แต่จริงๆ แล้วเราไม่มีจ่ายจริงๆ ธนาคารก็เข้าไปยึดธุรกิจเพื่อชำระหนี้ เพราะไม่ยึดติดผมถึงอยู่รอดมาได้วันนี้ แต่วิกฤติครั้งนี้ ผมจนปัญญาจริงๆ” สวัสดิ์ย้ำ
“สวัสดิ์” ยังให้ข้อแนะนำไปยังรัฐบาลว่า การปิดล็อกเมืองทำให้คนตกงานเศรษฐกิจหยุดชะงักคนตกงานขาดรายได้กันทั้งประเทศ จริงๆแล้ว โครงการลงทุนก่อสร้างต่างๆควรเปิดให้เขาทำงานและล็อกพื้นที่จัดการให้เขาทำงาน กิน-นอน กันอยู่ในนั้นขอบเขตตรงนั้น เพื่อให้งานก่อสร้างเดินหน้าคนมีงานมีเงินมีรายได้ “หรือใครปลอดภัยฉีดวัคซีน ตรวจโควิดแล้วไม่ติดเชื้อต้องปล่อยให้เขากลับเข้าไปทำงาน เพียงบริหารจัดการพื้นที่ให้ดีให้อยู่ในพื้นที่ของเขา
นอกจากนี้ ในอุตสาหกรรมการผลิตที่เขาผลิตสินค้าที่มีอายุการใช้งานได้นานและสินค้ามีความต้องการในตลาดที่เขาได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดครั้งนี้ เมื่อรู้แน่ๆว่าสินค้าเขาขายได้แน่นอน รัฐบาลอาจเข้าไปช่วยโดยเข้าไปรับจำนำสินค้า คิดจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรง เพื่อให้เขามีเงินทุนไปผลิตสินค้าต่อ.
ทีมเศรษฐกิจ