27 ส.ค. 2564 ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,702 คน ผู้ป่วยเข้าข่าย 5,066 คน ตาย 273 คน 1 ก.ย. 2564 เตรียมปรับมาตรการเปิดขนส่งธารณะข้ามพื้นที่ ให้นั่งทานอาหารในร้าน เปิดบางกิจการในห้างสรรพสินค้า เปิดสวนสาธารณะและสนามกีฬา แต่พื้นที่สีแดงเข้มยังให้ทำงานที่บ้าน และเคอร์ฟิว
ติดเชื้อเพิ่ม 18,702 ผู้ป่วยเข้าข่าย 5,066 คน เสียชีวิต 273 คน
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 27 ส.ค. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,702 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 18,351 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 9 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 342 คน ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อดังกล่าวยังไม่รวมผู้ติดเชื้อเข้าข่ายที่รายงานโดยกรมควบคุมโรคอีก 5,066 คน เสียชีวิต 273 คน เสียชีวิตสะสม 10,587 คน
ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 1,139,571 คน หายป่วย 20,163 คน หายป่วยสะสมทั้งหมด 943,784 คน กำลังรักษาตัวอยู่ 185,200 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 5,154 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,082 คน
ผู้รับวัคซีน 1 เข็ม ทั้งหมด 22,070,573 คน รับวัคซีน 2 เข็ม ทั้งหมด 6,860,084 คน คิดเป็น 9.52% ของประชากร และได้รับวัคซีนมากกว่า 3 เข็ม ทั้งหมด 5,272 คน
สถานการณ์โควิด-19 วันที่ 27 ส.ค. 2564
ศบค. เตรียมปรับมาตรการควบคุมโรค บังคับใช้ 1 ก.ย. 2564
นอกจากนี้ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ศบค. ชุดใหญ่ประชุมครั้งที่ 13/2564 เพื่อพิจารณาข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 30 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 3 ส.ค. 2564 เพื่อจัดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ส.ค. 2564 โดยยังไม่มีการปรับระดับสี แต่ปรับมาตรการควบคุมโรคให้สามารถเปิดกิจการและกิจกรรมเพิ่มเติมตามความพร้อมและความจำเป็น
ข้อสรุปในที่ประชุม ศบค. ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เป็นสถานการณ์โดยทั่วไปของประเทศส่วนใหญ่ในโลก พร้อมปรับมาตรการควบคุมโรคเน้นสมดุลการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยพลิกมุมมอง ปรับกลยุทธ์ สร้างความมั่นใจ และฟื้นเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด จะยังคงมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวด เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคระบาดมีความต่อเนื่องและได้ผล รวมถึงระบบสาธารณสุขยังรองรับได้
ระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อย
พื้นที่สีแดงเข้มยังให้ทำงานที่บ้านและเคอร์ฟิว
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี, และอ่างทอง
ทั้ง 29 จังหวัดยังให้คงมาตรการทางสังคมทั้งทำงานที่บ้าน หรือ work from home และห้ามออกนอกเคหสถานเวลา 21.00-04.00 น. หรือเคอร์ฟิวต่อไปอีกอย่างน้อย 14 วัน พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลและระดับองค์กร เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต
ส่วนการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับเปิดกิจการหรือจัดกิจกรรมให้ปลอดภัยและยั่งยืนจะเริ่มวันที่ 1 ก.ย. 2564 ในระดับส่วนบุคคล ให้คิดเสมอว่าทั้งตนเองและคนรอบข้างอาจติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีอาการ จึงต้องป้องกันด้วยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ และหมั่นตรวจเช็คอาการติดเชื้อเสมอ ส่วนมาตรการระดับองค์กร ต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้มีระบบระบายอากาศ เว้นระยะห่าง สะอาด และถูกสุขอนามัย ผู้ประกอบการและพนักงานควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ และได้ตรวจโควิด-19 ด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (Antigen Test Kit-ATK) ทุกสัปดาห์ ส่วนผู้รับบริการต้องได้รับวัคซีนครบ เคยติดเชื้อ หรือผล ATK เป็นลบภายใน 7 วัน
ร่างมาตรการควบคุมโรค
ขนส่งสาธารณะข้ามพื้นที่กลับมาเปิดบริการ
สำหรับการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ถือว่าเดินทางได้ แต่ขอความร่วมหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือเดินทางเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น และสื่อสารให้ผู้มีความเสี่ยง หรือผู้ติดชื้อให้เดินทางตามโครงการรับคนกลับบ้าน/รับผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้เดินทางเอง เปิดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะโดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 75% ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และงดรับประทานอาหารระหว่างโดยสารขนส่งสาธารณะ
เปิดให้นั่งทานในร้านอาหาร
ส่วนการเปิดบริการร้านอาหาร ร้านอาหารที่มีพื้นที่นอกอาคาร หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่งปรับอากาศ โล่ง และอากาศถ่ายเทได้ดี อนุญาตให้นั่งรับประทานได้ 75% ร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งรับประทานได้ 50% โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบการ สมาคมภัตตาคารไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
กิจการในห้างเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น.
ด้านการเปิดกิจการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์เปิดบริการได้ถึง 20.00 น. กิจการที่อนุญาต ได้แก่ ร้านเสริมสวย ร้านตัดแต่งผม เปิดให้บริการเฉพาะตัดผมเท่านั้น และไม่เกิน 1 ชั่วโมง ร้านนวดเปิดได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายเฉพาะสินค้า พร้อมเน้นย้ำให้มีการจองคิว หรือสอบถามนัดหมายล่วงหน้าก่อนเข้าใช้บริการ และร้านอาหารตามเงื่อนไขร้านที่มีเครื่องปรับอากาศ
กิจการที่ยังไม่อนุญาตให้เปิดบริการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ได้แก่ สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และห้องประชุม/จัดเลี้ยง โดยกิจการที่เปิดบริการต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบการ สภาหอการค้าไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
ส่วนร้านเสริมสวย ร้านตัดและแต่งผม ร้านนวดเฉพาะนวดเท้า ที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ยังคงเปิดบริการได้ โดยย้ำให้นัดหมายการใช้บริการล่วงหน้า
ยังไม่เปิดให้เรียนในสถานศึกษาแต่ขอใช้อาคารได้
สถานศึกษายังไม่เปิดเรียน แต่พิจารณาให้ใช้อาคารสถานศึกษาได้ โดยผ่านความเห็นชอบของผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด
สนามกีฬา-สวนสาธารณะกลางแจ้งหรือเปิดโล่งเปิดได้ถึง 20.00 น.
การเปิดใช้สนามกีฬาและสวนสาธารณะ เปิดใช้ได้ถึง 20.00 น. เฉพาะแบบกลางแจ้ง หรือในร่มที่เป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ สามารถใช้เล่น ซ้อม หรือแข่งขันกีฬาแบบไม่มีผู้ชม โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้รวมกลุ่มกัน
สำหรับสนามฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยเปิดใช้ในทุกประเภทแบบไม่มีผู้ชม แต่ต้องแจ้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มใช้
ส่วนผู้จัดการแข่งขันต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ภายใต้การกำกับดูแลของผู้จัดการแข่งขัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร