…เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไปว่า หนังใหญ่ต้องวัดพลับพลาชัย พอพูดถึงหนังใหญ่ ต้องวัดพลับพลาชัย พอพูดถึงวัดพลับพลาชัย ต้องพูดถึงหนังใหญ่ควบคู่กันไปเสมอ หลวงพ่อฤทธิ์แห่งวัดพลับพลาชัย เป็นต้นคิด-ต้นกำเนิดหนังใหญ่ ซึ่งขึ้นชื่อลือลั่นมาจนถึงทุกวันนี้…
บางส่วนจากบทความ “ประวัติวัดพลับพลาชัย” ในหนังสือ “อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ พระครูอาทรวชิรธรรม (เชื่อม สิริวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย”
จากข้อความคัดสรรเบื้องต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกอุของ “หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” ที่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วโด่งดังขึ้นชื่อ ถือเป็นหนึ่งในตำนานงานศิลป์คู่เมืองเพชรบุรี ที่วันนี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
หนังใหญ่ การแสดงชั้นสูง
“หนังใหญ่” เป็นหนึ่งในมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม เป็นการแสดงที่ใช้ศิลปะการเล่นหุ่นเงา ซึ่งในบ้านเรามี 2 ชนิด คือ “หนังตะลุง” เป็นตัวหนังขนาดเล็ก ผู้เชิดแสดงอยู่หลังจอ และ “หนังใหญ่” เป็นตัวหนังขนาดใหญ่ ผู้เชิดแสดงอยู่หน้าจอ
หนังใหญ่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการแสดงชั้นสูง เพราะได้รวบรวมศิลปะเอาไว้ถึง 5 แขนงด้วยกัน คือ “หัตถศิลป์”-งานศิลปะออกแบบลวดลายและการแกะสลักตัวหนัง, “นาฏศิลป์”-ลีลาท่าทางที่ใช้ในการแสดงซึ่งคนเชิดหนังกับตัวหลังต้องมีการเคลื่อนไหวที่สัมพันธ์กัน “คีตศิลป์”-ดนตรีปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดง, “วาทศิลป์”-คำพากย์ คำกล่าวเจรจา มุขตลกต่าง ๆ และ “วรรณศิลป์”-เนื้อเรื่องที่ใช้ในการแสดง คือ “รามเกียรติ์”
หนังใหญ่ในสยามประเทศ มีข้อมูลระบุว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย (อ้างอิงข้อมูลจากวัดขนอน) และมีหลักฐานปรากฏเด่นชัดเป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการแสดงในยุคนั้นเป็นการละเล่นของหลวง จะทำการแสดงเฉพาะในพระราชวัง และใช้ในงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์เท่านั้น
การแสดงหนังใหญ่สูญหายไปพร้อมกับการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการรื้อฟื้นการแสดงหนังใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งในฐานะ “หนังราษฎร์” ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ปัจจุบันในยุคนี้ พ.ศ.นี้ การแสดงหนังใหญ่ในบ้านเราลดน้อยลงไปมาก มีเหลืออยู่แค่ไม่กี่คณะ ที่ดัง ๆ และได้ทำการอนุรักษ์ไว้ก็อย่างเช่น หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี หนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง และหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี เป็นต้น
ขณะที่ศิลปะการแกะตัวหนังใหญ่ นอกเหนือจาก 3 วัดที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังพอมีให้ชมกันในบางวัด อาทิ วัดประศุภ จ.สิงห์บุรี วัดบางน้อย จ.สมุทรสงคราม วัดตะเคียน จ.ลพบุรี และ “วัดพลับพลาชัย” จ.เพชรบุรี
ซึ่งในอดีตเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว คณะ “หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” นั้นโด่งดังมาก ชนิดที่ว่าเวลาหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยไปเล่นที่ไหน ก็จะมีแฟนคลับตามมาชมกันอย่างล้นหลาม ไม่ต่างจากคณะลิเก คณะหมอลำ หรือศิลปินวงดนตรีชื่อดังในสมัยนี้ จนมีคำกล่าวว่า
…หากพูดถึง “หนังใหญ่” ก็ต้องพูดถึง “วัดพลับพลาชัย” หากพูดถึง “หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” ก็ต้องพูดถึง “หลวงพ่อฤทธิ์” อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ผู้เป็นหนึ่งในตำนานบุคคลสำคัญด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อฤทธิ์-วัดพลับพลาชัย
วัดพลับพลาชัย ตั้งอยู่ใน ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2229-2310 ชื่อวัดแห่งนี้มาจากที่นี่เคยมี “พลับพลา” ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชร ซึ่งบริเวณนี้เมื่อครั้งอดีตเคยเป็นที่ประชุมกองทัพและที่ฝึกอาวุธของทหารก่อนจะออกทำศึกสงคราม หลังมีการก่อสร้างวัดขึ้น จึงถูกตั้งชื่อว่า “วัดพลับพลาชัย”
ในปี พ.ศ. 2412 สมัยรัชกาลที่ ๕ หลังหลวงพ่อคง เจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัยมรณะภาพลง “หลวงพ่อฤทธิ์” ได้มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อ (เป็นเจ้าอาวาสระหว่าง พ.ศ.2412 – 2462) ซึ่งถือเป็นยุคทองของวัดพลับพลาชัยที่ได้ฝากรอยอดีตอันรุ่งโรจน์ส่งต่อมาในยุคปัจจุบัน
หลวงพ่อฤทธิ์ ท่านเป็นคนปากทะเล อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เกิดในปี พ.ศ. 2378 (ช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ ๓) ในวัยเยาว์หลวงพ่อฤทธิ์ร่ำเรียนกับ “ขรัวอินโข่ง” ศิลปินผู้มีชื่อเสียงระดับตำนานของไทย ที่โด่งดังมากในสมัยรัชกาลที่ ๔
หลวงพ่อฤทธิ์ท่านเป็นผู้ฝักใฝ่หาความรู้และศึกษาจนแตกฉานช่ำชอง ไม่ว่าจะเป็น ด้านการแพทย์แผนโบราณซึ่งท่านศึกษาจากหลวงพ่อคง จนมีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องชื่อในด้านการรักษาตา คนไข้ของท่านมีตั้งแต่ยาจก ชาวบ้าน ไปจนถึงเจ้าเมือง นอกจากนี้หลวงพ่อฤทธิ์ยังมีฝีมือเป็นเลิศในด้านงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม การแสดงหนังใหญ่ และการแกะสลักตัวหนังใหญ่ เป็นต้น
หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย
ในสมัยที่หลวงพ่อฤทธิ์เป็นเจ้าอาวาส นอกจากท่านจะสร้างวัดพลับพลาชัยให้เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาและศิลปะวิทยาการแล้ว ท่านยังได้ระดมลูกศิษย์มากฝีมือมาแกะสลักหนังใหญ่เป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์กว่า 200 ตัว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นตัวหนังที่แกะได้สวยงามประณีตยิ่งนัก
หนังใหญ่จากการกำกับสร้างสรรค์ของหลวงพ่อฤทธิ์และลูกศิษย์ มี 2 แบบ คือ “หนังเดี่ยว” แกะเป็นรูปตัวละครโดด ๆ และ “หนังเมือง” หรือ “หนังจับ” แกะเป็นรูปตัวละครกับสถานที่ หรือ ตัวละครต่าง ๆ ที่มีปฏิกริยาต่อกัน
นอกจากนี้หลวงพ่อฤทธิ์ยังได้ก่อตั้งคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยขึ้น โดยท่านได้กำหนดบทพากย์ มุกตลก และลงมือฝึกซ้อมลูกศิษย์ด้วยตนเอง จนคณะหนังใหญ่วัดพลับพลาชัยมีฝีมือช่ำชองจึงให้ออกแสดงต่อหน้าสาธารณะชน
หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย เป็นหนึ่งในคณะหนังใหญ่ที่โด่งดังมากในยุคนั้น จนถูกคัดสรรให้ไปแสดงต่อหน้าพระพักตร์รัชกาลที่ ๕ ที่พระราชวังบ้านปืน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจไม่รู้ลืมของชาวเพชรบุรีมาจนทุกวันนี้
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย
เดิมตัวหนังใหญ่กว่า 200 ตัวที่ทำขึ้นในสมัยหลวงพ่อฤทธิ์ จัดเก็บไว้ที่ศาลาการเปรียญวัดพลับพลาชัย
แต่…ในปี พ.ศ.2458 ตัวเมืองเพชร เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ ตัวหนังใหญ่ส่วนหนึ่งถูกไฟเผาไหม้ ส่วนที่เหลือถูกย้ายนำไปเก็บไว้ยังสถานที่อื่น ๆ เช่น ที่วัดคงคาราม
ต่อมาในยุคปัจจุบันทางวัดพลับพลาชัย ได้ร่วมมือกับปราชญ์ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย” ขึ้น โดยนำหนังใหญ่ของวัดพลับพลาชัยที่เคยทำไว้ในอดีตจากที่ต่าง ๆ จำนวน 32 ตัว มาเก็บรักษาและจัดแสดงให้ชมกันภายใน “วิหารพระคันธารราฐ” ให้ผู้สนใจได้เข้าชมกัน
นอกจากนี้ทางวัดพลับพลาชัย ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี ยังได้อนุรักษ์สืบสานงานศิลปะ การ “ตอกหนังใหญ่” ให้อยู่คู่ชุมชนแห่งนี้ พร้อมทั้งต่อยอดเป็นกิจกรรม “ตอกลาย สร้างศิลป์” ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้สนใจ รวมถึงมีการสอนเชิดหนังใหญ่เบื้องต้นให้กับนักท่องเที่ยวผู้สนใจอีกด้วย
ตอกลาย สร้างศิลป์ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมลงมือตอกลายตัวหนังใหญ่ด้วยตัวเอง โดยการใช้ค้อนและตุ๊ดตู่ตอกลงไปบนกระดาษลวดลายตัวหนังใหญ่ที่นำมาประยุกต์เป็นของที่ระลึกที่ทำจากจากฝีมือของตัวนักท่องเที่ยวเอง
งานนี้ใครที่ได้ลงมือทำจะรู้ว่ามันไม่ง่ายเลย แม้จะเป็นแค่ตัวหนัง (กระดาษ) จำลองตัวเล็ก ๆ แต่เมื่อทำเสร็จแล้วนำไปใส่กรอบ มันถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเรา เพราะนี่เป็นงานจากฝีมือและการสร้างสรรค์ของตัวเราเอง ซึ่งมีเพียงชิ้นเดียวในโลกเท่านั้น
************************************************************
วันนี้ใครมาเยือนวัดพลับพลาชัยนอกจากจะได้ชมตัวหนังใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ หรือทำกิจกรรมตอกหนังใหญ่แล้ว ภายในวัดแห่งนี้ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกหลากหลาย อาทิ พระประธานในโบสถ์ พระคันธารราฐ รูปเคารพหลวงพ่อฤทธิ์ หลวงพ่อเชื่อม พระสังกัจจายน์ งานศิลปะปูนปั้น แกะสลักไม้ ธรรมาสน์ทรงบุษบก อนุสรณ์สุนทรภู่ ศาลาท่าน้ำ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ชุมชนย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี โทร. 08 6344 4418 และสามารถสอบถามข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในจังหวัดเพชรบุรีได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี โทร.032 471 006