พิธีถวายเทียนพรรษามหามงคลเพื่อแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย มอบหมายให้ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีถวายเทียนพรรษามหามงคลเพื่อแผ่นดิน ปี 2565 ทรงอธิษฐานจิตอนุโมทนา ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ณ วัดมเหยงคณ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมในพิธี
โดยประธานฯ ได้ประกอบพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยถวายราชสักการะหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถวายเทียนพรรษา จำนวน 1 คู่ รวมถึงถวายเครื่องไทยธรรม และผ้าไตรพระราชทาน แด่ พระภาวนาเขมคุณ วิ. เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประวัติการสร้างวัดกล่าวถึง พระนางกัลยาณี พระมเหสีของเจ้าสามพระยา เป็นผู้สร้าง หลังจากที่เจ้าสามพระยา หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงสร้างวัดกุฎีดาว ก่อนจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาราว 40 ปี วัดมีความเจริญรุ่งเรืองสืบมานานหลายร้อยปี กระทั่งมารกร้างและต้องทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ และรุ่งเรืองสืบมาจนถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ได้ถูกทำลายและทิ้งร้างอีกครั้ง จนเมื่อ พ.ศ. 2527 พระภาวนาเขมคุณ (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ได้จัดตั้งสำนักกรรมฐานขึ้นที่วัดมเหยงคณ์ เพื่ออบรมวิปัสสนาให้กับบุคคลทั่วไป ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดมเหยงคณ์เป็นโบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2484 (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
ประกวดผ้าลายขิต นารีรัตนราชกัญญา
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดโครงการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิตนารีรัตนราชกัญญา” และหัตถกรรมระดับภาค จุดดำเนินการที่ 2 ภาคกลาง ณ โรงแรมสุวรรณาริเวอร์ได์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โดยมี นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมหัวหน้าหน่วยราชการร่วมให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดการทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จุดประสงค์ของโครงการ ประกวดผ้าลายพระราชทานฯ เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย เพื่อเผยแพร่อัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบ ด้านการแต่งกายสิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดการสร้างรายได้ เพิ่มให้กับชุมชนเป็นการต่อยอดการสร้างรายได้ เพิ่มให้กับชุมชนเป็นการพัฒนาศักยภาพผ้าไทย และงานหัตถกรรมให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทย และงานหัตถกรรมแต่ละประเภท ให้เป็นที่รู้จักผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิตนารีรัตนราชกัญญา” ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย (สมชัย – ประนอม ลัทธิเดช / ชัยนาท)
เชิญสิ่งของพระราชทาน
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ณ บ้านผู้ประสบอัคคีภัยบ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 6 ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มอบหมายให้ นายประพันธ์ ตรีบุบผา ปลัดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเชิญสิ่งของพระราชทาน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปมอบให้แก่ ครอบครัวนางเรียม สหายลับ ซึ่งบ้านที่อยู่อาศัยเลขที่ 32 หมู่ 625/1 หมู่ที่ 6 ตำบลลาดน้ำเค็ม อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประสบอัคคีภัยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 บ้านได้รับความเสียหายบางส่วน จำนวน 1 ครอบครัว มีผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 3 คน
ซึ่ง การได้รับสิ่งของพระราชทาน ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระบรมราชูปถัมภก แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นล้นพ้น และโอกาสนี้ หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาทิ เหล่ากาชาด ชมรมแม่บ้านมหาดไทย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอผักไห่ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสาพระราชทาน และประชาชนจิตอาสา ได้มอบเงินและสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัยด้วย (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
มอบสิ่งของพระราชทานฯ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 182 หมู่ 4 ตำบลห้วยแห้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมมอบเงินและสิ่งของพระราชทาน จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้แก่ นางสาวพยุง แสงสด เป็นเจ้าของบ้าน หลังจากบ้านที่อาศัยดังกล่าว ประสบเหตุอัคคีภัย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 08.00 น. มีผู้อยู่อาศัยทั้งหมด 1 คน แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ส่วนสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ดำเนินการ เพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมถึงให้กำลังใจแก่ผู้ประสบภัย และประชาชนในพื้นที่ พร้อมแนะนำ ให้ประชาชนควรต้องระมัดระวังการเกิดอัคคีภัย ทั้งจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เก่า ชำรุด หรือหมดสภาพการใช้งาน รวมถึงความประมาทต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้
โอกาสนี้ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุทัยธานี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุทัยธานี (ฝ่ายทหาร) ได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้รับการช่วยเหลือสร้างบ้านให้ใหม่ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังมีหน่วยทหารพัฒนา ตำรวจภูธรจังหวัดอุทัยธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี ประชาสัมพันธ์จังหวัด ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดอุทัยธานี นายอำเภอบ้านไร่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันมอบเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมทั้งพูดให้กำลังใจเพื่อเป็นการสร้างขวัญให้แก่ผู้ประสบภัยด้วย (ชนม์สวัสดิ์ ทองโพธิ์งาม / อุทัยธานี)
ช่วยน้ำท่วม ฝึกอบรม
นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมเลขานุการ และคณะ นายสมควร ชัยบุรินทร์ นายกสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดสิงห์บุรี ลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือประชาชนพี่น้องหมู่ที่ 1, 2, 3 และ 4 ตำบลโพชนไก่ ได้รับความเดือดร้อนจากที่คลองระบายน้ำทิ้ง น้ำระบายไม่ทัน ทำให้พื้นที่สวนไร่นา ประมาณ 400 ถึง 500 ไร่ ได้รับความเสียหาย พี่น้องประชาชนชาวบ้านขอความอนุเคราะห์ ให้ช่วยขุดลอกคลองดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ทาง สส.โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ได้รับแจ้งจากนายคำรณ ศรีสุนทร ผู้ใหญ่บ้านบ้านหม้อ หมู่ 7 อำเภอพรหมบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารของ อบต.บ้านหม้อ ให้ช่วยประสานงานประตูน้ำเก้าชั่ง ซึ่งก่อสร้างเป็นเวลานาน มีความชำรุดเสียหาย มีรอยรั่วซึม อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ขอให้ประสานงานเพื่อป้องกันแรงดันน้ำที่ทางชลประทานปล่อยมา เกรงว่าจะพังเสียหาย
ส.ส.โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพเสริมรายได้ให้ชุมชน (อาชีพดีพร้อม) โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.กระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้เข้ารับการอบรมจาก 3 ตำบลประกอบไปด้วย 1. ตำบลท่างาม 2. ตำบลอินทร์บุรี 3. ตำบลชี้น้ำลาย จำนวนผู้เข้ารับการอบรม 200 คน จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)
จัดอนุรักษ์ละครชาตรี
รองศาสตราจารย์ ดร.วิณัฎฐา แสงสุข คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวว่า ทางคณะได้จัดงานเสวนาสาธารณะของคณะ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างพื้นที่ทางวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สอดแทรกในพริบทต่างๆ ของสังคม โดยเชิญวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันเสวนาเชิงวิชาการเพื่อสร้างบรรยากาศในการแสดงออกทางความคิด และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ ทางคณะ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงของไทย โดยเฉพาะการแสดงละครชาตรีที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง หากไม่ได้รับการอนุรักษ์และสืบทอด นับวันจะลบเลือนสูญหายไปตามกาลเวลา จึงเกิดเป็นแนวคิดในการจัดงานเสวนาสาธารณะ ในครั้งที่ 18 นี้ ในหัวข้อ “ละครชาตรีกับความอยู่รอด ต่อยอดสู่ความยั่งยืน” ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา ในวันพุธที่ 7 กันยายน 2565 เวลา 13.00-16.00 น. โดยเชิญ 1.วิทยากรระดับศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงอย่าง นางรัจนา พวงประยงค์ 2. ผู้ช่วยศาสตร์จารย์กมล บุญเขต อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดงของคณะ 3. นางบังอร ปั้นอกเนียม ศิลปินพื้นบ้านละครชาตรี ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.ณรงค์ คุ้มมะณี อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการแสดงของคณะฯ (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
เปิดมหกรรมอาหารเป็นยา
ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า ณ ศูนย์ OTOP พุแค สระบุรี (ตลาดหัวปลี) ดร.สาธิต ปีตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงานมหกรรมอาหารเป็นยาวิถีชุมชนเพื่อคนสระบุรี โดยมีนายเอกพร จุ้ยสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับ และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน จากนั้น ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบป้าย อาหารเป็นยา และเยี่ยมชมบูธนิทรรศการ พร้อมกับสาธิตเมนู เครื่องดื่มสมุนไพร…ต้มยำ sparking ต่อจากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงานดนตรีในสวนไผ่ การเสวนาวิชาการ หัวข้อ “อาหารเป็นยา สร้างสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ” โดย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ประธานคณะทำงานอาหารปลอดภัย กขป. เขตสุขภาพที่ ๔ และมีการบรรยายและสาธิต โดย อาจารย์ อักขราทร ศิลปี ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษา ด้านอาหารเกี่ยวกับสมุนไพร จังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในเรื่องแหล่งอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเป็นจังหวัดในเขตภาคกลาง ที่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการทำสวน ทำไร่ ปศุสัตว์ และอีกหนึ่งอาชีพ คือ การปลูกพืชสมุนไพรจำหน่ายเป็นรายได้ มีปัจจัยเอื้อหลาย (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)
หน่วยงานคุณธรรมต้นแบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมทานตะวัน ศาลากลางจังหวัดลพบุรี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี มอบเกียรติบัตร ชุมชน องค์กร และอำเภอคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นจังหวัดลพบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และชุมชนคุณธรรมฯ เที่ยวชุมชน ยลวิธี ระดับจังหวัด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และเป็นแรงจูงใจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรมอย่างยั่งยืน จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี ชุมชนคุณธรรมวัดหนองกระเบียน ตำบลหนองกระเบียน อำเภอบ้านหมี่
องค์กรคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น สำนักงานสรรพากรพื้นที่ และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดลพบุรี อำเภอคุณธรรมต้นแบบโดดเด่น คือ อำเภอเมืองลพบุรี อำเภอท่าวุ้ง และอำเภอพัฒนานิคม ส่วนชุมชนคุณธรรมฯ เที่ยวชุมชน ยลวิถี ระดับจังหวัด มีจำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม ชุมชนคุณธรรมวัดห้วยแก้ว ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ และชุมชนคุณธรรมวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมืองลพบุรี (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)
นายกอินทร์บุรี ป้องกันน้ำ
นายพชร จันทรเศธร นายกเทศมนตรีตำบลอินทร์บุรี เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำท้ายเขื่อน 1,695 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีระดับน้ำ 10.11 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.29 เมตร (ระดับตลิ่ง 13.40 เมตร) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเฉพาะ หมู่ที่ 4 ตำบลอินทร์บุรี ทันที เทศบาลตำบลอินทร์บุรี “นายกตี๋” นายพชร เผยว่า แนวคันกั้นน้ำที่เคยแตกเมื่อปีที่แล้ว บริเวณจุด หลังวัดประสาท หมู่ที่ 4 ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี ได้ซ่อมแซมผนังกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จแล้วพร้อมเสริมแนวคันกั้นน้ำ เทคอนกรีตแล้วบดอัดหินให้แน่นทั้งด้านในและด้านนอกคั้น มั่นใจแนวคั้นกันน้ำเจ้าพระยาไม่แตกเหมือนปีที่แล้ว หลังจากเสริมแนวป้องกันแล้ว
บริเวณจุดปิดกั้นที่พัง (วัดปราสาท) แล้ว ในพื้นที่ หมู่ที่ 3-4 ได้ทำการอุดท่อปิดประตูระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 3 เครื่อง จุดที่ 1 หลังวัดปราสาทที่เคยแตก หมู่ที่ 4 จุดที่ 2 บ้านต้นโพธิ์ หมู่ที่ 4 และจุดที่ 3 หน้าที่ว่าการอำเภออินทร์บุรี หมู่ที่ 3 ในส่วนพื้นที่ หมู่ที่ 6-7 จะดำเนินการติดตั้งเครื่องอีก 4 จุด คือ จุดที่ 1 เหนือศาลเจ้าพ่อเหลาวเหล็ก หมู่ 6 จุดที่ 2 ซอยป้าเตี๊ยม หมู่ 7 จุดที่ 3 หน้าวัดเฉลิมมาศ หมู่ 7 จุดที่ 4 บ้านสามหลัง หมู่ 7 พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชม. เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบปีที่แล้ว จะทำให้ประชาชน 4 หมู่บ้าน จำนวน 2,000 กว่าครัวเรือนได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ “นายกตี๋” จะดำเนินการเพื่อป้องกันน้ำท่วมจนสุดความสามารถเต็มศักยภาพ เพื่อให้พี่น้องเทศบาลตำบลอินทร์บุรีได้อุ่นใจสบายใจ แต่เมื่อมีการอุดท่อระบายน้ำแล้วกรณีฝนตกหนักน้ำจะไม่ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา น้ำจะเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ลุ่มต่ำ จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อทำการสูบน้ำระบายน้ำออกสู่เจ้าพระยา แต่ละพื้นที่เวลาในการระบายน้ำอาจไม่เท่ากัน และเพื่อความไม่ประมาทจึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยายกสิ่งของมีค่าในพื้นที่ลุ่มต่ำไปไว้ในที่สูงหรือที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสียหาย ในกรณีที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 1-2 ชั่วโมง หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรืออาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงสร้างความเสียหายแก่ประชาชน ทางเทศบาลตำบลอินทร์บุรี จะประกาศแจ้งเตือนให้ทราบต่อไป (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)
นำนักศึกษาสู่การเป็นวิสาหกิจ
หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ UBI สถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกับคณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) จัดโครงการอบรมเพื่อพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นวิสาหกิจเริ่มต้น Start up Entrepreneurs ในอนาคต หัวข้อ “Design Creative Thinking /Creativity On digital Platform” เพื่อพัฒนาและต่อยอดนักศึกษาให้พร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ในอนาคต ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณวัชรพงศ์ แสงเมฆ ตำแหน่ง Creative Director/Advertising Agency บริษัท Digilogy วิทยากรบรรยายให้ความรู้ โดยมีนักศึกษาจำนวน 110 คน เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา 2 มทร.สุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา วาสุกรี (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
ชนะเลิศด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ประจำปี 2564 โดยนายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด เข้ารับถ้วยรางวัลชนะเลิศด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ ประจำปี 2564 และนายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด เข้ารับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ประเภทเทศบาลนคร ประจำปี 2564
ทั้งนี้ นายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาลนครปากเกร็ด ได้ร่วมเป็นวิทยากรขึ้นเสวนา ในหัวข้อ “พัฒนาเมืองให้น่าอยู่…ก้าวสู่วิถีเมืองยั่งยืน (Now Normal To Next Normal)” กับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในครั้งนี้ (สมคิด – สมนึก ลือประดิษฐ / นนทบุรี)
ให้ความรู้เด็กอนุบาล
เมื่อเวลา11.00.น ของวันนี้ 5 กันยายน 2565 พ.ต.อ.ชนันท์ เปรมปลื้มจิตต์ ผกก.สภ.อุทัย พ.ต.ท.สรายุทธ แสงทอง รอง ผกก.ป.สภ.อุทัย พ.ต.ต.ไตรเภท รัฐมนตรี สวป.สภ อุทัย โดยการปฏิบัติหน้าที่ของ ร.ต.อ.จักรพงศ์ ดีถ้วน รอง.สวป.ฯ ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวร 60 พร้อม กำลังตำรวจจราจร สภ.อุทัย ได้เข้าพบ นายสมบัติ โลห์ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลธารธารา และคณะบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ที่ตั้งเลขที่ 2 หมู่ 2 ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อร่วมกันให้ความรู้เรื่อง “การเอาตัวรอดจากสถานการณ์ติดอยู่ในรถรับ-ส่งนักเรียน” แก่เด็กนักเรียนอนุบาลธารธารา จำนวน 20 คน เด็กนักเรียนได้รับฟังและเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ จนทดลองปฏิบัติได้จริงตามคำแนะนำของ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.อุทัย หากเกิดเหตุสถานการณ์จริง จะได้ช่วยเหลือได้ทันที (ชาญ ชูกลิ่น / อยุธยา)
ศูนย์เฝ้าระวังการจราจรทางน้ำ
นายไพรัตน์ เพชรยวน เปิดเผยว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา นำโดย นายพีรธร นาคสุข ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาอยุธยา ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมการจราจรทางน้ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานฯ เพื่อเฝ้าฟังวิทยุ และสายด่วน 1199 พร้อมรับแจ้งเหตุ รวมทั้งจัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ประจำเรือตรวจการณ์ 186 และรถยนต์ตรวจการณ์ ออกควบคุมการจราจรทางน้ำและประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัยของการสัญจรทางน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากที่กรมชลประทาน ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก จะมีการปล่อยน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไหลหลากอย่างรุนแรง อันเป็นผลกระทบต่อการเดินเรือ และการสัญจรของประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ ได้ตระหนักถึงการดูแลความปลอดให้กับชาวเรือซึ่งสัญจรในพื้นที่ ได้รับทราบ และปฏิบัติตามประกาศของ “เจ้าท่า” โดยได้รับความร่วมมือจากชาวเรือเป็นอย่างดี ซึ่งจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับชาวเรืออย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
สืบสานงานประณีตศิลป์ของไทย
นายสุภกิณห์ แวงชิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ “หัวโขน : สืบสานงานประณีตศิลป์ของไทย” ทั้งนี้เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงฟื้นฟูทำนุบำรุงศาสตร์และศิลป์หลายแขนงที่เกี่ยวกับการแสดงโขน เพื่อการสงวนรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงสืบต่อไป ที่ศูนย์การเรียนรู้ กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ อ.เมือง จ.ลพบุรี (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)