จากกรณีคำพิพากษาคดีล่าสุดทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง 3 คน ทำให้ต้องมีการตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและถือโอกาสปรับย้ายบางส่วนโดย เมื่อสองวันก่อนราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ซึ่ง ครม. ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ในวันเสาร์นี้
การปรับครม.ประยุทธ์ 2/4 ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีใหม่ 3 คน แต่เปลี่ยนแปลงด้วยกัน 4 ตำแหน่งอันเนื่องจากมีการสลับตำแหน่งกันข้ามกระทรวงของสองพรรคเกิดขึ้น โดยเป็นการแลก ระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทยซึ่งก็ไม่ค่อยจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาเท่าไรที่แลกมาเพื่อให้ 1 กระทรวงมีรัฐมนตรีมาจากพรรคเดียวกัน ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งรัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการในกระทรวงพาณิชย์ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทยในกระทรวงคมนาคม แต่นี่กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ของพรรคพลังประชารัฐที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย แต่ทั้งที่จริงอาจเป็นเรื่องที่กำลังจะถูกวางเกมใหม่ของพลังประชารัฐหลังจากนี้หรือไม่ ?
รัฐมนตรีใหม่สองคนของพปชร. เอาเข้าจริงมีประวัติไม่ธรรมดา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นสส.แบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 10 ของพรรคพลังประชารัฐ และยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค โดยนอกจากจะเป็นเจ้าของพื้นที่ที่สิงห์บุรีที่ปัจจุบันส่งน้องชายลงสส.ระบบเขตแทนและได้รับชัยชนะ ครั้งล่าสุดแล้ว ยังมีภรรยาคือ น.ส.กานต์กนิษฐ์ เป็น สส.ระบบเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีกลุ่มสส.กทม.จำนวนหนึ่งสนับสนุน แต่ฐานสส.เหล่านี้ก็อาจไม่สำคัญเท่า ความเป็นคนสนิทของพลเอกประวิตร
แต่ก็คงจะไม่สำคัญเท่าจากการเป็น สส. ผู้ใกล้ชิด พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ 1 ในคนสำคัญที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้รัฐมนตรีป้ายแดงกระทรวง DES คนนี้ ดูเหมือนจะมีคอนเนคชั่นที่ดีต่อกลุ่มทุน
ต่างๆ อีกด้วย โดยมีศักยภาพระดับสูงที่จะเชื่อมต่อกับกลุ่มทุนได้หรือไม่ ? ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง การขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มเสถียรภาพภายในพรรค หรือจะเป็นมองการณ์ไกลไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ชัยวุฒิอาจกำลังขึ้นมาเป็นขุนศึกคนสำคัญในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ?
เช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ อย่างนางสาวตรีนุช ที่ก็มีประวัติการเมืองที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน จากการได้รับเลือกเป็น สส. จังหวัดสระแก้ว มาแล้ว5 สมัยรวด และยังเป็นญาตินักการเมืองคนสำคัญสายตะวันออก อย่างนายเสนาะที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการแยกทางกันมาสังกัดบิ๊กป้อมที่พรรคพลังประชารัฐสร้างศึกตระกูลเทียนทอง ที่สุดท้ายฝั่งตรีนุช ชนะทั้งหมด จนทำให้นายเสนาะกลายเป็นตำนานในที่สุดแต่ก็ยังถือว่ายังไม่สะเด็ดน้ำ การขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ถือเป็นกระทรวงใหญ่ในครั้งนี้จึงเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของพรรคพลังประชารัฐ ในการที่จะทุ่มสรรพกำลังในภาคตะวันออกที่ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักอีกเป้าของพรรคพลังประชารัฐในการตั้งฐานที่มั่นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะภาคตะวันออกฝั่งหนึ่งก็ถูกคุมด้วยสองรัฐมนตรีจากจังหวัดชลบุรี คือนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่มีถึงสองรัฐมนตรีในจังหวัดเดียวทั้งที่การเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้สส.เพียง 5 เสียงจาก 8 เสียง โดยเสียพื้นที่ให้กับอนาคตใหม่ถึงสามเขต แต่การเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งล่าสุดก็พิสูจน์พลังบ้านใหญ่ที่สามารถกลับมายึดนายก อบจ.ได้ด้วยคะแนนแบบท่วมท้นและกวาดที่นั่ง สจ.เกือบยกจังหวัด ทิ้งตัวแทนจากคณะก้าวหน้าแบบไม่เห็นฝุ่น ถือเป็นผลจากการเดินยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกแบบเงียบๆ รวมถึงนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ กับโครงการ EECที่คืบหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ควบคู่กับการหาเสียง ทั้งนี้หากผนวกภาคตะวันออกทั้งสองฝั่งกับการเดินเกมของสามรัฐมนตรีกับอีกหนึ่งโครงการใหญ่ ให้จับตาดู ฉะเชิงเทรา จันทบุรี หรือแม้กระทั่ง ระยอง ปราจีนบุรี พื้นที่พรรคร่วม ก็อาจจะเปลี่ยนไปก็เป็นได้
แม้จะปรับขยับแค่สองแต่เมื่อต่อจิ๊กซอว์ของเดิมและการกระทำอื่นก่อนหน้านี้ นี่อาจจะเป็นการวางหมากเพื่อเตรียมขุนศึกสำหรับเลือกตั้งหรือไม่ ?
ในขณะที่ฝ่ายการเมืองมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ด้วยการปรับครม. และการแก้รัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลจากฝ่ายตั้งรับกำลังจะเป็นฝ่ายรุกในทุกกระดานแม้ในกระดานที่ไม่คาดคิดอย่างการแก้รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนกระบวนการของการแก้รัฐธรรมนูญกำลังจะเริ่มนับหนึ่งแล้ว จากสภาที่ถกเถียงกันอย่างวุ่นวายไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และทำให้ร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต้องตกไป แต่สุดท้ายรัฐบาลเองกลับกำลังเดินหน้าต่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระทำผ่านกระบวนการร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งจะเร็วกว่าที่คิด โดยสภาจะการประชุมขึ้นในวันที่ 7-8 เมษายน นี้
ในส่วนท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่กลุ่ม REDEM ที่มาชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ซึ่งข้อเรียกร้องหลักจะมุ่งเน้นวนเวียนไปในเรื่องอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ และแม้จะพยายามบอกว่าเป็นคนละกลุ่ม แต่ข้อเรียกร้องก็ไม่ได้หนีไปจากกันมากนัก และการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่ได้เป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่น่าจะเป็นทางออกเดียวตอนนี้
จึงน่าคิดว่าทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมถึงยังคงชูประเด็นเรื่องการจำกัดอำนาจของสถาบันอยู่ แทนที่จะเป็นในประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องล้มไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพราะถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ? และไม่ว่าจะมีที่มาความคิดเบื้องหลังอย่างไร แต่ผลของการกระทำไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐบาลได้เลย แต่บางส่วนดูจะกำลังทำประเด็นให้กลับกลายมาเป็นปัญหาต่อประเทศในอนาคตหรือไม่ ? อย่างกรณีการดึงต่างชาติเข้ามา
เกี่ยวกับกิจการภายในของไทย
อย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ได้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยดังบางท่าน พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย รวมถึงแม่ของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้เข้าไปขอพบอุปทูต ไมเคิล ฮีธ ที่เป็นรักษาการเอกอัครราชทูต ประจำสถานทูตสหรัฐอเมริกา ทั้งที่เราเคยเห็นบทเรียนมาแล้วจากการเอาต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่มีใครอยากเห็นเกิดขึ้นอย่างเช่นการปะทะกันของฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ดูเหมือนอเมริกาจะเข้าเป็นหมากตัวหนึ่งของเกมการต่อสู้ของฮ่องกงในครั้งนั้นที่นำไปสู่ความขัดแย้งระดับโลกของจีนและสหรัฐอเมริกา
หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการที่หลายๆ คน ได้ถกเถียงถึงประเด็น NGOs ของต่างประเทศที่เข้ามาสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับผู้ชุมนุม ?ที่อาจจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่ยังคงบานปลายมาจนถึงทุกวันนี้และผลก็คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่ายภายใต้การอ้างความชอบธรรมของทั้งสองฝ่าย ที่เอาเข้าจริงก็เทียบไม่ได้กับกรณีของพม่าแบบที่พยายามจะนำเสนอ จึงทำให้ยังไม่สามารถดึงความรู้สึกร่วมของประชาชนได้ ในทางกลับกันก็อาจมีคนตั้งข้อสังเกตว่า การปลุกเร้าการชุมนุมแบบนี้เป็นแบบเดียวกับเมื่อช่วงก่อนเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วประเทศเมื่อปีที่แล้ว และตอนนี้ก็เช่นกันที่กำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคมที่จะถึงนี้
“โบราณท่านว่าไว้ ถ้าฟ้าคะนองให้ระวังตัวจงหนัก”
เล่าปี่ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)