การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประชาสัมพันธ์ใช้ผู้ใช้ทางทราบถึงกฎกระทรวงกำหนดความเร็วใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยกำหนดความเร็วบนทางพิเศษ (ทางด่วน) ยกระดับของรถยนต์ 4 ล้อ ไม่เกิน 100 กม./ชม. ส่วนทางด่วนระดับดินไม่เกิน 110 กม./ชม.
กฎกระทรวงฉบับใหม่ กำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกกฎกระทรวงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 พ.ย.64 มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วันนับแต่วันประกาศฯ ซึ่งครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.65 กำหนดรายละเอียด อาทิ ทางเดินรถนอกเขตเมืองรถส่วนบุคคลให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชม. หากจัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน ให้ใช้ความเร็วรถส่วนบุคคลไม่เกิน 100 กม.ต่อ ชม.
รวมทั้งยังกำหนดความเร็วในทางพิเศษ (ทางด่วน) ด้วย โดย กทพ.ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเนื่องจาก พ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2550 (มาตรา 42) กำหนดให้นำ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาใช้บังคับแก่การจราจรในทางพิเศษโดยอนุโลม
สำหรับทางพิเศษในเขตเมืองกฎกระทรวงเดิมจำกัดความเร็วรถทั่วไปไม่เกิน 80 กม./ชม. ส่วนนอกเขตเมืองไม่เกิน 90 กม./ชม. กฎกระทรวงใหม่ทางพิเศษระดับดินวิ่งได้ไม่เกิน 110 กม./ชม. ทางพิเศษยกระดับไม่เกิน 100 กม./ชม. ตัวเลขที่เคาะออกมานี้ มาจากการที่ กทพ.ได้หารือกับตำรวจถึงการออกฎกระทรวง โดยวิเคราะห์ทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยเนื่องจากโครงสร้างทางด่วนเดิมออกแบบรับความเร็วไว้ที่ประมาณ 80-90 กม./ชม. ส่วนการเปรียบเทียบปรับเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ …
อย่างไรก็ตามสำหรับทางด่วนที่จะก่อสร้างใหม่ในอนาคต กทพ.จะปรับการออกแบบโครงสร้างให้ใช้ความเร็วได้มากขึ้นเพื่อรองรับกฎกระทรวงใหม่ รวมทั้งนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม ที่ให้ทางหลวงตามที่ประกาศใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. โดยออกแบบทางโค้งให้กว้างยาวขึ้นเพื่อความปลอดภัย
กฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.จราจร มีรายละเอียดแตกต่างจากกฎกระทรวง (คมนาคม) ที่กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด ซึ่งลงนามโดยนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 4 มี.ค.64 อาทิ ความเร็วสำหรับรถส่วนบุคคลกฎกระทรวงคมนาคมในช่องขวาสุดไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม. จากเดิมไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชม. และห้ามใช้ความเร็วช่องขวาสุดต่ำกว่า 100 กม.ต่อ ชม. บนทางหลวงที่กำหนด (มีช่องจราจรทิศทางละ 2 ช่อง มีแบริเออร์แบ่งทิศทางจราจรและไม่มีจุดกลับรถพื้นราบ)
ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้ประกาศให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม. (เฉพาะช่องทางขวาสุด) แล้ว 3 ระยะ บนทางหลวง (ทล.) 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 222.26 กม. แบ่งเป็น
ระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 ทล.32 (ถนนสายเอเซีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม.ที่ 4+100-50+000 ระยะทาง 45.9 กม.
ระยะที่ 2 จำนวน 6 สายทาง ระยะทางรวม 132.13 กม. เมื่อวันที่ 1 ก.ย.6 4 ประกอบด้วย
1.ทล.1 (สนามกีฬาธูปะเตมีย์-ประตูน้ำพระอินทร์) กม.35+000-45+000 จ.ปทุมธานี 10 กม.
2.ทล.1 (หางน้ำหนองแขม-วังไผ่) กม.306+640-330+600 จ.นครสวรรค์ 23.96 กม.
3.ทล.2 (บ่อทอง-มอจะบก) กม.74+500-88+000 จ.นครราชสีมา 13.5 กม.
4.ทล.32 (อ่างทอง-โพนางดำออก) กม.50+000-111+473 จ.อ่างทอง และ จ.สิงห์บุรี 61.473 กม.
5.ทล. 34 (บางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) กม.1+500-15+000 จ.สมุทรปราการ 13.5 กม.
6.ทล. 304 (คลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา) กม.53+300-63+000 จ.ฉะเชิงเทรา 9.7 กม.
ระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 65 รวม 3 สายทาง ระยะทางรวม 44.23 กม. ประกอบด้วย
1.ทล.4 (ถนนเพชรเกษม) 2 ช่วง ได้แก่ เขาวัง-สระพระ ระหว่าง กม.160+000-กม.167+000 ระยะทาง 7 กม. และระหว่าง กม.172+000-กม.183+500 ระยะทาง 10.75 กม. จ.เพชรบุรี (เป็นช่วงๆ)
2.ทล.9 บางแค-คลองมหาสวัสดิ์ ระหว่าง กม.23+400-กม.31+600 กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 8.20 กม.
3.ทล.35 นาโคก-แพรกหนามแดง กม.56+000-กม.80+600 จ.สมุทรสงคราม (เป็นช่วงๆ) ระยะทาง 18.28 กม.
เหตุผลของการเพิ่มความเร็วบนทางหลวง จากที่ไม่เกิน 90 กม.ต่อ ชม. เป็นไม่เกิน 120 กม.ต่อ ชม. ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุจากการชนท้าย
แม้ในความเป็นจริงเกือบจะร้อยทั้งร้อย เหยียบกันเกิน 90 ก่อนที่กฎหมายใหม่จะประกาศใช้ แต่เพื่อความปลอดภัย ในการใช้ความเร็วที่เพิ่มขึ้น กรมทางหลวงจึงต้องปรับลักษณะทางกายภาพของทางหลวงเพิ่มความปลอดภัย เพราะระบบวิศวกรรมของการสร้างถนนในประเทศไทยแต่เดิมไม่ได้ออกแบบไว้ที่ 120 กม.ต่อ ชม. จึงประกาศให้อัพสปีดได้เป็นช่วงๆ
ดังนั้นการใช้ความเร็วในการขับขี่แต่ละเส้นทาง ต้องสังเกตป้ายประชาสัมพันธ์ ขับรถด้วยความระมัดระวัง รักษากฎจราจร อย่าประมาทเด็ดขาด… จูนก่อนเหยียบกันอีกครั้ง เพราะมีทั้งเส้นทางที่ขับได้ 90-100-110-120 กม./ชม.
ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง