ศบค.แถลงยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มล่าสุด 1,763 คน คน เสียชีวิตเพิ่ม 27 คน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ยังเหลือพอและสั่งเพิ่มอีก 2 ล้าน ล่าสุด 53 จังหวัดประกาศกักตัวคนจากนอกพื้นที่ ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีประยุทธ์เป็น ผู้อำนวยการ
ภาพจากการถ่ายทอดสดแถลงสถานการณ์ของ ศบค. วันที่ 4 พ.ค.2564
4 พ.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การระบาดและการรักษาโควิด-19 ประจำวัน โดยมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 1,763 คน ยอดรวม 72,788 คน ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา 30,011 คน อาการหนัก1,009 คน ในจำนวนนี้มีคนที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 311 คน และมีเสียชีวิตเพิ่ม 27 คน ทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 303 คน
ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเพิ่ม 6,611 คน มียอดสะสม1,106,071 คน ส่วนผู้ที่ได้รับคซีนเข็มที่สองแล้วมีเพิ่ม 5,099 คน ยอดสะสม 392,546 คน
นพ.ทวีศิลป์อธิบายถึงตัวเลขการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเปรียบเทียบกับยอดรวมการติดเชื้อในอีก 73 จังหวัดรวมกันในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงวันที่ 4 พ.ค. ว่า พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเป็นพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูงหากสามารถจัดการการติดเชื้อในพื้นที่นี้ได้และเป็นยุทธศาสตร์ในการทำงานก็จะถือว่าเป็นการทำงานที่เกินครึ่งของประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์คือจะมีการลงไปตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนที่พบว่ามีการระบาด
โฆษก ศบค.ยืนยันว่ามีฟาวิพิราเวียร์ ( Favipiravir ) เพียงพอ โดยปัจจุบันยังมียาเหลืออยู่อีก 1,621,631 เม็ดโดยกระจายอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมมากที่สุดล้านกว่าเม็ด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2 แสนกว่าเม็ด กรมการแพทย์ 1.7 แสนเม็ด กรมควบคุมโรคอีกราว 4.8หมื่นเม็ด และกำลังจะสั่งเพิ่มจากประเทศญี่ปุ่นอีก 2 ล้านเม็ดภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ ส่วนวัคซีนขณะนี้มีการจัดสรรวัคซีนของซิโนแวคกว่า 1,956,657 โดส แอสตราเซเนก้าอีก101,590 โดส
นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึงการประชุม ศบค.นัดพิเศษเมื่อวานนี้(3พ.ค.) ว่า เป็นการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลเร่งด่วน ผลที่ประชุมคือจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อบูรณาการการจัดการสถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยหน่วยนี้จะศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล โดยมีจะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.จะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้เองส่วนรายละเอียดที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และวันนี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะเลขาฯ ศบค. จะเป็นผู้ยกร่างรายละเอียด
อีกทั้งจะมีศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดในระดับเขตโดยมีผู้อำนวยการเขตที่มีฐานะเป็นผู้อำนวยการศูนย์ระดับเขตรับนโยบายไปอีกทีซึ่งก็จะแบ่งฝ่ายต่างๆ ออกไปอีกเช่น ฝ่ายตรวจเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อ ฝ่ายบริหารจัดการวัคซีนและอื่นๆ
53 จังหวัดให้กักตัวคนจากนอกพื้นที่
เว็บไซต์ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เพิ่มเติมข้อมูลจังหวัดที่มีประกาศให้กักตัวคนที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่จังหวัดจำนวน 53 จังหวัดเมื่อ 20.00 น. ของวันที่ 3พ.ค.2564 โดยทั้ง 53 จังหวัดได้แก่
ภาคเหนือ : เชียงราย, เชียงใหม่, ตาก, นครสวรรค์, น่าน, พะเยา, พิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, แพร่, ลำปาง, ลำพูน, สุโขทัย, อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ภาคกลางและตะวันออก : ชัยนาท, นครนายก, ประจวบคีรีขันธ์, ลพบุรี, สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครพนม, นครราชสีมา, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อำนาจเจริญ, อุดรธานี และอุบลราชธานี
ภาคใต้ : กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, พังงา, พัทลุง, ระนอง, สงขลา, สตูล และสุราษฎร์ธานี
รายละเอียดเงื่อนไขการกักตัวของแต่ละจังหวัดดูที่เว็บไซต์ของ ศบค.มท.