ประมวลกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 53 บ่ายจรดค่ำ ประชาชนเดินขบวนจากวัดปทุมฯ ไปร่วมกิจกรรมแยกราชประสงค์ พร้อมคุยกับมนุษย์ม็อบรุ่นใหม่ที่เคยมาร่วมกับคนเสื้อแดงในวันวาน
19 พ.ค. 2565 เมื่อ 18.00 น. สุรเมธ น้อยอุบล ผู้สื่อข่าวพิเศษประชาไท และแอดมินเพจเฟซบุ๊ก ‘Friends Talk’ และ ‘Friends Talk+’ รายงานที่วัดปทุมวนาราม ถนนพระรามที่ 1 ติดตามการทำกิจกรรมของ ‘แหวน’ ณัฏฐธิดา มีวังปลา พะเยาว์ อัคฮาด ปิยรัฐ จงเทพ จากกลุ่ม We Volunteer หรือวีโว่ และนักกิจกรรมคนอื่นๆ เตรียมเดินขบวนจากวัดปทุมวนารามไปที่แยกราชประสงค์ เพื่อรำลึก 12 ปี คนเสื้อแดงเสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อพฤษภาคมปี 2553
แหวน กล่าวก่อนเริ่มกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตทั้ง 6 คนภายในวัดปทุมฯ ได้แก่ นายสุวัน ศรีรักษา นายอัฐชัย ชุมจันทร์ นายมงคล เข็มทอง นายรพ สุขสถิต น.ส.กมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว ว่าผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลคนสำคัญ และสมาชิกครอบครัว และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นทำให้พวกเขาต้องแยกจากกัน
นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาวกมนเกด กล่าวขอบคุณจับใจที่ประชาชนยังไม่ลืมกมนเกด พยาบาลอาสา และวีรชนทุกคนในเหตุการณ์ปี 2553
เธอบอกว่า แม้ผ่านมา 12 ปีแล้วความคืบหน้าเรื่องคดีความของผู้เสียชีวิตทั้ง 99 คนจากเหตุการณ์วันนั้นยังคงมืดมน แต่เธอยืนยันว่าจะต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป
“ตอนนี้ 12 ปีแล้วที่มันมืดมน แต่เราก็ต้องสู้ต่อไป เพื่อให้ความยุติธรรมที่เราตามหา กลับคืนมาหาเรา กลับคืนมาให้กับคนที่เสียชีวิต เพราะตอนที่เสียชีวิต เขาถูกตราหน้าว่าเป็นอะไร ‘ผู้ก่อการร้าย’ และดิฉันหรือพ่อน้องเฌอก็ถูกตราหน้าว่าเป็นพ่อเป็นแม่ผู้ก่อการร้าย เหตุการณ์ที่ผ่านมา มันค่อยๆ พลิกฟื้นมา จริงๆ แล้ว ผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้มีความผิดอะไรเลย ไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้มีอะไรเลยสักนิดเดียว แต่ชีวิตที่เขาต้องสังเวยไป มีใครมารับผิดชอบไหม มันไม่มี รัฐบาลชุดนี้ที่เป็นตัวต้นเหตุ เป็นคู่กรณีกับเรามาตลอดตั้งแต่ปี 53 และตอนนี้เขาพยายามทำทุกอย่างให้บุคคลที่ตาย 99 ศพเป็นคดีที่สูญ… หาคนกระทำผิดไม่ได้
“ขอให้ประชาชนและเด็กคนรุ่นใหม่นี่ ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยกัน เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความเป็นจริง ความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปด้วย” พะเยาว์ กล่าว
ปิยรัฐ จงเทพ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 53 ในวัดปทุมฯ กล่าวว่า แม้ว่าจะผ่านไป 12 ปีแล้ว ยังไม่เห็นความยุติธรรม และยิ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของอำนาจเผด็จการ ยิ่งยากลำบากที่จะตามหาความยุติธรรม แต่เขายืนยันว่าเขาจะไม่หยุดเรียกร้อง เพราะถ้ายังไม่หยุดแสดงว่ายังไม่แพ้
“เหตุการณ์วันนั้นผมพูดทุกครั้ง ผมจะมาให้ได้แม้จะเจ็บปวดขนาดไหน แม้จะติดธุระขนาดไหน ผมต้องมาให้ได้ในวันนี้ ลากสังขารมาเพื่อมาคิดรำลึกถึงพวกเขา มาเป็นสักขีพยานให้พวกเขา ได้มาเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ แม้จะเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เล่าแล้วเล่าอีก มันต้องเล่า เพื่อตอกย้ำ คุณจะเห็นว่าหลักฐานหลายๆ อย่างในวัดปทุมฯ ได้ถูกก่อสร้างเปลี่ยนแปลงทุบล้างออกไปเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอาคารทางด้านนู้น แม้จะรื้อไปแล้ว เนื่องจากมีรอยกระสุนจำนวนมาก อาคารบริเวณตรงหน้าผมนี้ก็ถูกรื้อไปแล้ว เมื่อก่อนเป็นที่ทำบุญ บนหลังคามีแต่รอยกระสุนทั้งนั้นก็รื้อไปแล้ว ต้นไม้ก็ถูกตัดทิ้งไปหมด เนื่องจากว่าเป็นจุดที่มีหลักฐาน เป็นจุดที่แขวนป้ายเขตอภัยทาน แม้กระทั่งอาคารที่เห็นอยู่ด้านขวามือของผมนั้นก็สร้างขึ้นมาใหม่ เนื่องจากว่ารอยกำแพงบริเวณนั้น มีแต่รอยกระสุน ดังนั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ และหลักฐานทางคดี ถูกแก้ไขปรับปรุงมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ผมจึงบอกว่า ความยุติธรรมมันต้องเกิดขึ้น แม้มันจะช้า แต่เราต้องเรียกร้องและเราต้องมาย้ำให้มันอยู่ทุกวัน ทุกปีอย่างวันนี้”
“ขอฝากพี่น้องประชาชนทุกคน และที่สำคัญ สักขีพยานที่เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นช่วยจดจำบันทึก และเล่าเรื่องราวในวันนั้นให้ต่อเนื่อง และสืบต่อกันไปจนกว่าเราจะได้ความยุติธรรม” ปิยรัฐ กล่าว
ด้านชาติชาย แกดำ กล่าวว่าเขาได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วมตรวจสอบหลักฐาน และคลิปวิดีโอต่างๆ โดยเขายืนยันว่าเป็นทหารที่ยิงประชาชนในวัดปทุมฯ จริง และการเข้าเป็นคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงวันนั้นได้จุดประกายทำให้เขาเปลี่ยนไป ทำให้เขามองว่า ไม่ว่าคุณจะมีความคิดทางการเมืองแบบใด ก็ไม่ควรถูกสังหารแบบนี้
“ต่อให้เราเห็นต่างทางการเมืองอย่างไร แต่มันไม่ควรที่จะมีการมาสั่งฆ่ากันแบบนี้ และวันนั้นเองผมไม่ใช่คนเสื้อแดง แต่หลักฐานที่ผมเข้าไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มันทำให้ผม เชื่อว่าคนเสื้อแดงถูกสั่งฆ่าจริงๆ” ชาติชาย กล่าว
ชาติชาย กล่าวต่อว่า เขาสังเกตว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ประท้วงบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองต่างๆ จะมีชนชั้นนำบางส่วนชอบออกมาบอกว่า ให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจา เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ แต่เขากลับมองว่าบ้านเมืองจะไม่สามารถเดินต่อไปได้เลย หากยังไม่มีการชำระประวัติศาสตร์ และข้อเท็จจริง การสังหารคนเสื้อแดงเมื่อปี 53
“ทุกเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องเราที่อยู่ในเรือนจำ ณ ตอนนี้ที่โดน 112 หรือทุกๆ เหตุการณ์ที่ถูกกระทำจากชนชั้นนำ ถ้าไม่มีการชำระข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเอาคนผิดมาลงโทษ ถ้าไม่มีการพูดคุยว่าคนผิดจะรับผิดชอบอะไร ผมคิดว่าการเดินหน้าของประเทศมันไปได้ยาก” ชาติชาย กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า เหตุการณฺ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นอีก หากเราปล่อยให้คนตายในปี 53 จำนวน 99 ศพ ถูกมองเป็นเรื่องปกติ และสิ่งที่จะกันเหตุกกาณณ์เหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้น คือประชาชนด้วยกันเอง
เมื่อเวลา 18.25 น. นักกิจกรรมเดินออกมาหน้าวัดปทุมวนาราม พร้อมตะโกนว่า “ที่นี่มีคนตาย” และ “ปล่อยเพื่อนเรา” ก่อนไปที่แยกราชประสงค์ เพื่อร่วมกิจกรรมรำลึกของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ในช่วงเวลา 19.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อช่วงเวลา 15.00 น. ประชาชนมีการจัดทำบุญ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต 6 คนภายในวัดปทุมฯ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อเดือน พ.ค. 2553
ภาพบรรยากาศขณะเดินไปราชประสงค์
รำลึกที่ราชประสงค์
19 พ.ค. 2565 ทีม Mobdata เผยว่า ประชาชนนำเอาศพจำลองมาผูกที่ป้ายแยกราชประสงค์ เมื่อเวลา 18.45 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานที่แยกราชประสงค์ เมื่อเวลา 18.45 น. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ และกลุ่มเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง มาทำกิจกรรมที่ป้ายแยกราชประสงค์ โดยมีการจุดเทียนและติดชื่อของผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 53 จำนวน 99 คน
เวลา 19.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดง ราว 20 คน ร่วมกันนอนแสดงเป็นสัญลักษณ์ถึงคนที่ตายจากการสลายการชุมนุม
ทีมสังเกตการณ์ชุมนุม ‘Mobdata’ รายงานเมื่อเวลา 19.15 น. พบป้ายรณรงค์การดำเนินคดีต่อเยาวชนและคนรุ่นใหม่บนสะพานลอยทางข้ามจากเซ็นทรัลเวิร์ดไปห้างเกษร
คุยกับมนุษย์ม็อบ
‘กิ๊ฟ’ ชาวจังหวัดสิงห์บุรี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรำลึกผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ที่แยกราชประสงค์ นัดโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสมัยที่ได้เข้ามาร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.
กิ๊ฟ เผยว่า ขณะนั้นเธออายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาชั้นปี 3 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และได้มีโอกาสเข้ามาฝึกงานบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง
กิ๊ฟต์ ประชาชนที่มาร่วมงานที่ราชประสงค์
“ตอนนั้นเราเป็นเด็กฝึกงานอยู่ และเข้ามาในกรุงเทพฯ พอดี และอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้ (ผู้สื่อข่าว – แยกราชประสงค์) เลยมาบุญครองไปหน่อยเดียว ตอนนั้นเราก็แอบมาชุมนุมเป็นเสื้อแดงที่ไม่ได้ใส่เสื้อแดง ต้องแอบมา เพราะว่ารอบตัวเรามีแต่สลิ่ม มีแต่เสื้อเหลือง ที่ๆ เราไปอยู่คือเป็นดงสลิ่มเหมือนกัน เราก็ใส่เสื้อแดงไม่ได้ เวลามาก็ต้องแอบมา และก็ผูกผ้าพันคอเอา
“ในช่วงที่เขาเริ่มปราบ คือเราอยู่ไม่ไกล เราก็ได้ยินเสียงบ้าง เห็นควันบ้าง และตรงที่เราอยู่มีรั้วลวดหนาม มีแขวนป้ายว่าเขตยิงกระสุนจริงด้วย คือเรากลัวมาก และเราอยู่ตรงนั้น และเป็นเด็ก คือมันอยู่คนเดียวแล้ว มันกลัวไปหมดเลย มีช่วงที่เขาตัดสัญญาณมือถือ มีช่วงที่เหมือนล็อกดาวน์สมัยนี้ ห้างปิด เซเว่นปิด และก็หาของกินไม่ได้
“ช่วงที่พีกสำหรับเราที่สุดคือวันที่เสธ.แดง (ผู้สื่อข่าว – พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล) ถูกยิง ซึ่งวันนั้นทางผ่านที่เราอยู่มันเป็นทางผ่านไปโรงพยาบาล แล้วรถ Ambulance (ผู้สื่อข่าว – รถพยาบาล) วิ่งทั้งคืน เราก็รู้ข่าวแล้ว เสธ.แดงโดนยิง ก็นั่งร้องไห้ หลังจากนั้นทุกคืนที่รู้ข่าว เราก็ร้องไห้ตลอดจนตอนที่สลาย
“มันใจสลาย เราไม่ได้มา แต่อยู่ไม่ไกล แล้วเรารู้ทุกอย่างเลย วันที่เขาเอารถเมล์มาขนคนเสื้อแดงกลับต่างจังหวัด มันมีรถสายหนึ่งที่วิ่งผ่านหอเรา คือตอนที่มันผ่านหอเรา เราลงมาส่งคนเสื้อแดงกลับบ้าน ในขณะที่คนรอบๆ ชุมชนตรงนั้น เขาลงมาเพื่อไล่ แล้วรถคนเสื้อแดงผ่าน ออกมาโบกมือคนรอบข้างคือปาขวดน้ำใส่ ปาก้อนหินใส่ มันเป็นภาพที่สะเทือนใจเรามาก เหมือนกับกรงสัตว์กรงหนึ่งเอามาให้คนรุมกระทืบเลย เรารับไม่ได้ ความทรงจำหลังจากนั้นมี Big Cleaning Day ซึ่งมันเหยียบย่ำหัวจิตหัวใจเรา ตอนนั้นเราเลยขอลาฝึกงาน หลังจากนั้นก็กลับบ้าน รับไม่ได้แล้ว ก็ดิ่งไปช่วงหนึ่ง” อดีต นศ.รั้วแม่โดม กล่าวถึงห้วงความทรงจำช่วงเดือน พ.ค. 2553
กิ๊ฟ กล่าวถึงเหตุผลที่เธอมาร่วมกับคนเสื่อแดงว่า เธอชื่นชอบทักษิณ ชินวัตร และทนไม่ได้ที่เห็นพรรคการเมืองที่เธอเลือกตั้งโดนกระทำแบบนี้
“เอาตรงๆ เรารักทักษิณ และเราก็ทนไม่ได้กับรัฐบาลที่เราเลือกมากับมือ โดนกระทำย่ำยีขนาดนี้ และอีกอย่างตอนนั้นเราใส่ใจการเมืองแล้ว …และทำไมเพื่อนรอบตัวเราไม่เห็นสิ่งนี้ และเราก็เลยพยายาม ไม่ได้บอกเพื่อนเรานะ แต่อะไรที่แอบทำได้ เราก็แอบทำ ก็เลยแอบมา” กิ๊ฟ ทิ้งท้าย
เอ มวลชนอิสระวัย 24 ปี จากจังหวัดระยอง วันนี้เขามาร่วมงานรำลึกผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ที่แยกราชประสงค์ นัดโดย สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด
เอ มวลชนอิสระอายุ 24 ปี
เอ เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ตอนที่มีการชุมนุมคนเสื้อแดง เขาเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น แต่ก็พอทราบข่าวสถานการณ์ชุมนุมจากในโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นคนรอบตัวเขาไม่ด่าทหาร หรือฝ่ายความมั่นคงเลย มีแต่ต่อว่าผู้ชุมนุม
เอ กล่าวต่อว่า เขามารับรู้เหตุการณ์จริงๆ ช่วงหลังจากปี 57 ที่มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเรียกร้องต่อต้านรัฐประหาร คสช. ผมก็สงสัยว่าทำไมเขาต้องออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ประชาธิปไตยคืออะไร ตอนนั้นผมยังอยู่ ม.4 อยู่ ผมก็แบบลองศึกษาดู สุดท้ายก็เข้าใจว่าทำไมเขาต้องออกมาเรียกร้อง
“ถ้าเป็นในตอนนี้ ผมว่ามันไม่ถูกต้องที่จะเอาการใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกมาปราบปรามผู้ชุมนุม รัฐควรที่จะออกมาตั้งโต๊ะประนีประนอม หรือว่าเจรจากัน แทนที่จะเอาเจ้าหน้าที่รัฐมาปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุมมันก็ไม่มีอาวุธ ไม่มีอะไรอยู่แล้ว”
เอ มองว่า ในแง่คดีความเขามองว่าไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไร 99 คน ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเปลี่ยน ส่วนความเปลี่ยนแปลงก็คือ คนรุ่นใหม่ เจน Z เจน Y เขาเข้าใจบริบทในปี 2553 มากขึ้นว่าคนเสื้อแดงทำไมถึงออกมา และออกมาเพื่ออะไร และทำไมรัฐบาลต้องใช้รัฐประหาร
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของผู้สื่อข่าวประชาไท พบว่าการสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 มีผู้เสียชีวิตเพียง 94 คน