ส่วนเดือน ต.ค.คาดการณ์ว่า ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง จึงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของแต่ละหน่วยงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ พร้อมได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
“ได้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย การเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำและพื้นที่อื่นๆในการรับน้ำหลาก ความพร้อมของคันกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ รวมถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวาและการกำจัดขยะในคลอง และได้เน้นย้ำในเรื่องการสื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง”
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 41,496 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) จากการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยพบว่า เดือน ส.ค.2564-ม.ค.2565 มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 2,988 ตำบล 630 อำเภอ กระจายอยู่ในพื้นที่ 71 จังหวัดทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนองในฤดูฝนปี 2564 ได้ติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำสะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา ท่าจีน ในบริเวณพื้นที่รับน้ำนองท่าวุ้ง ต.บางลี่ อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ณ ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการและเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.มีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนรายพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและขาดแคลนน้ำได้ทั้งก่อนเกิดภัยและระหว่างเกิดภัยเพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ซึ่งรวมถึงความพร้อมของพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำจุดต่างๆ หรือแก้มลิงที่มีศักยภาพรองรับน้ำหลากได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง คาดว่าในช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. จะมีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในภาคกลาง รวม 368 ตำบล 56 อำเภอ ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง.