แนวโน้มสถานการณ์ลุ่มน้ำป่าสัก-เจ้าพระยา ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริเวณภาคกลางยังมีโอกาสเกิดฝนตกหนักถึงกลางต.ค. 64 แนะประชาชนเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ด้านศูนย์ฯ ส่วนหน้าลุ่มน้ำชี-มูล ร่วมกับหลายหน่วยงานกำหนดแนวทางการจัดจราจรน้ำลุ่มน้ำมูล
วันที่ 9 ตุลาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (9 ต.ค.64) สถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 873 ล้าน ลบ.ม. หรือ 91% ของความจุอ่างฯ กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายอ่างฯ ในอัตรา 650 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะรับน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองระพีพัฒน์ประมาณ 190 ลบ.ม./วินาที และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในอัตรา 790 ลบ.ม./วินาที
ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักบริเวณด้านท้ายเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ลดลง 91 ซม., อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ลดลง 65 ซม., อ.เมือง จ.สระบุรี ลดลง 59 ซม., และอ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 31 ซม.
ด้านลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลงตามไปด้วย โดยที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,501 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท
ซึ่งกรมชลประทานได้ใช้คลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรับน้ำเข้าไปรวม 407 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ได้ลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือ 2,577 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง ดังนี้ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ลดลง 6 ซม.,อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ลดลง 8 ซม., อ.เมือง จ.อ่างทอง ลดลง 6 ซม.
,อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 4 ซม.,อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลง 3 ซม.
ในขณะที่บริเวณอ.บางไทร ที่เป็นจุดวัดน้ำก่อนไหลผ่านลงสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,910 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง
สำหรับคลองชัยนาท-ป่าสัก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการระบายน้ำท่วมขังพื้นที่ฝั่งซ้ายในพื้นที่ อ.บ้านหมี่ และ อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้เร็วขึ้น ทำให้ระดับน้ำลดลงตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ ต.หนองเมือง ที่ปัจจุบันสามารถใช้ลานวัดหนองเมืองทำกิจกรรมได้บางส่วนแล้ว ต.บ้านทราย และ ต.หนองทรายขาว อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ทั้งนี้ แม้ว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ในระยะนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคม 2564 บริเวณภาคกลางยังมีโอกาสเกิดฝนตกหนักได้ กรมชลประทาน ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน
ขณะที่ฝั่งอีสาน ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) ในฐานะประธานศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและบูรณาการการทำงานของหลายหน่วยงาน ในการวางแผนรับมือและป้องกันสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ว่าที่ ร.ต.มนต์สง่า ลีลาศสง่างาม หัวหน้า สนง.ปภ.จังหวัดอุบลราชธานี นายชลินศรี ไทยยิ่ง ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 11 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่าน VDO Conference
ทั้งนี้ เพื่อติดตามการคาดการณ์ปริมาณน้ำหลากสูงสุดและแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ผลและแผนการใช้เครื่องจักรเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการคาดการณ์สถานการณ์อุทกภัยและระยะเวลาสิ้นสุดสถานการณ์ หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขื่องใน อำเภอเมือง อำเภอดอนมดแดง และอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี