จัดเลี้ยงอาหารให้เด็ก 77 จังหวัด
วันที่ 12 มกราคม 2566 ที่โรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พล.ต.ต.เสริมคิด สิทธิชัยกานต์ อดีต ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.ชัยรัชต์ รุ่งเรือง ผกก.สภ.ภาชี นายเผอิญ ไทยสม นายกสมาคมผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์โทรทัศน์พระนครศรีอยุธยา พร้อมสมาชิก นายเกียรติยศ ศรีสกุล ประธานชมรมช่างภาพสื่อมวลชนพระนครศรีอยุธยา พร้อมสมาชิก ร่วมกันนำไอศกรีมมาเลี้ยงให้กับเด็กนักเรียน โดยมี ดร.จิราภรณ์ เทพกรรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนตะโกดอนหญ้านาง พร้อมด้วยคณะกรรมการโรงเรียน คณะครู ให้การต้อนรับ
พล.ต.ต.เสริมคิด สิทธิชัยกานต์ อดีต ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ตนเองรับราชการตำรวจ จนเกษียณอายุราชการ ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญรับเงินบำนาญจากภาษีประชาชน จึงได้ตั้งใจที่จะตอบแทนภาษีของประชาชน ด้วยการทำกิจตามอุดมการณ์และตอบแทนพระคุณหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก จัดเลี้ยงอาหาร ขนม ไอศกรีม ให้กับเด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ 77 จังหวัด แต่ละจังหวัดอาจจะมีมากกว่า 1 โรงเรียน (สุทธิพร กองสุทธิผล / อยุธยา)
ผู้ว่าฯอยุธยา มอบทุนการศึกษาให้กับเด็กพิการ ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดฯ
วันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ ห้องประชุมดุสิดาราม ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 และมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กพิการ โดยมี นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย พ.อ.อ.นรชัย กฤษณะเกษกุล ประธานกรรมการสถานศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษฯ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธี
นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การจัดงานวันเด็ก เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีความต้องการจำเป็นพิเศษในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม ได้รับความสนุกสนาน และเรียนรู้ถึงการเป็นผู้ให้และผู้รับไปพร้อมกัน และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณและของขวัญจากผู้ใหญ่ใจดี จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้กับน้อง ๆ ในการจัดกิจกรรมในวันนี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เพื่อหล่อหลอมการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ดังคำขวัญวันเด็ก ประจำปี 2566 จาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
ปลัด มท. พ่อเมืองกรุงเก่า นายกเล็กกรุงเก่า พร้อมเปิดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ปี 2566 หน้าศาลากลางเก่ายิ่งใหญ่
วันที่ 14 มกราคม 2566 ที่ บริเวณศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า) อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและคณะ แต่งกายในชุดลูกเสือและนักเรียน ให้การต้อนรับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงาน “วันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566” และกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อเทิดพระเกียรติ “ปันน้ำใจเพื่อน้องพร้อมกันปั่น” โดยมี นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย คณะรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมต้อนรับและร่วมกิจกรรม จัดโดยเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นำโดย ว่าที่ ร.ต.สมทรง สรรพโกศลกุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา นำคณะผู้บริหารเทศบาล สมาชิก นำรถจักรยาน จำนวน 1,910 คัน และอุปกรณ์เครื่องเล่นเด็ก ให้เด็กได้เลือกเล่น พร้อมมอบจักรยานในวันเด็กนี้ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน (เผอิญ – วุฒิภัทร / อยุธยา)
อยุธยาซิตี้พาร์ค สร้างรอยยิ้มความสนุก จัดงานวันเด็กทั้งศูนย์การค้าฯ
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 บริเวณชั้น 2 หน้าโรงภาพยนตร์อยุธยาซิตี้พาร์ค ซีนีเพล็กซ์ คุณปภพ ด่านชัยวิโรจน์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.สมพล รัชตพิมลชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด ศูนย์การค้าอยุธยาซิตี้พาร์ค ผู้ร่วมจัดงาน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ได้ร่วมกิจกรรม “The Magical Children’s Day” สร้างฝัน เหนือจินตนาการ สร้างสีสันแห่งความสุขทั่วทั้งศูนย์การค้า ให้เด็กและเยาวชนได้เกิดแรงบันดาลใจ ด้วยการร่ายเวทมนตร์แห่งความสุข ผ่านเหล่าคอสเพลย์ เจ้าหญิง เจ้าชาย ตัวการ์ตูนชื่อดัง พร้อมร่วมสนุกกับการละเล่นต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566 (เผอิญ ไทยสม / อยุธยา)
จังหวัดอยุธยา ร่วมกับ อบจ. และภาครัฐ ภาคเอกชน นำของขวัญร่วมจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” เด็กและเยาวชนหลั่งไหลร่วมงานอย่างคึกคัก
วันที่ 14 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ณ สนามกีฬากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร เหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ประจำปี 2566 จัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และภาคีเครือข่าย นำโดย นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมต้อนรับ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะกรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน รวม 7 จังหวัด ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ 13 มกรคม 2566 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรม เดอะ คาวาลิ คาซ่า รีสอร์ท อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับเกียรติจาก นายกกชัย ฉายรัศมีกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธี นางนลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน วิทยากรบรรยาย และผู้เข้าร่วมการประชุม พร้อมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ มีผู้แทนกรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรน้ำ รวมทั้งผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมพิธีเปิดและร่วมการประชุมฯ จำนวนกว่า 120 คน
จากนั้น นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดการประชุม และปาฐกถาพิเศษ กล่าวว่า ด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีโครงการอันเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจหรือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการให้สัมปทานหรืออนุญาตให้บุคคลอื่นทำ และมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอื่นใดของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ต้องเผยแพร่ข้อมูลและ/หรือรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการของรัฐนั้น และกำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ และแนะนำหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
ผู้ว่าฯอยุธยา นำพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ร่วมพิธีถวายราชสักการะและถวายราชสดุดี เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
วันที่ 17 มกราคม 2566 เวลา 08.15 น. ณ หอประชุมพระพิรุณระลึกโปรดเกล้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยา หันตรา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด จุดเทียนที่เครื่องทองน้อย และกล่าวคำถวายราชสดุดี เบื้องหน้าพระบรมรูปหล่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี 2566 โดยมีนางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการพลเรือน ตุลาการ ทหาร ตำรวจ อัยการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด รัฐวิสาหกิจ สมาคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และข้าราชการ ร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2532 กำหนดให้วันที่ 17 มกราคมของทุกปี เป็นวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และเป็นวันรัฐพิธี เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วงแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณพุทธศักราช 1826 ถึงประมาณพุทธศักราช 1841 พระองค์ทรงเป็นนักการทหาร นักปกครอง นักการทูต และนักปราชญ์ ทรงมีพระเมตตาเอาพระทัยใส่ในทุกข์ สุข ของประชาชน ให้มีการประกอบอาชีพอย่างเสรีทรงยกเลิกจังกอบ ทรงให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินแก่ประชาชน ทรงเป็นผู้มีนโยบายกระชับมิตรกับดินแดนต่าง ๆ ทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกล และทรงเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงสนับสนุนทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาดังปรากฏหลักฐานว่า ทรงจัดสร้างพระอารามทั้งในและนอกราชธานี ทรงสนับสนุนการเผยแพร่หลักธรรม และสร้างศาสนวัตถุอีกด้วย
นอกจากพระราชกรณียกิจทางด้านพระพุทธศาสนาแล้ว ทรงส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญา และศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นคือ การประดิษฐ์อักษรไทย หรือ ลายสือไทย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเป็นอารยชนของอาณาจักรสุโขทัย เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย ที่ได้รับทราบความเป็นมาของชาติบ้านเมือง และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ นับแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน (ศูนย์ข่าวภาคกลาง)
เจ้าคณะจังหวัดอยุธยา เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ร่วมกับคณะสงฆ์ เจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังใหม่
วันที่ 15 มกราคม 2566 พระธรรมรัตนมงคล เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ร่วมกับเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทำบุญจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมด้วย นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และครอบครัว โดยได้กราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งประกอบด้วย ศาลพระภูมิ เรือนรับรองจวนผู้ว่าราชการจังหวัด บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างทดแทนหลังแรกที่ชำรุดและเสื่อมสภาพ ภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชาวอยุธยา
โดยเมื่อเวลา 09.00 น. ได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายอดีตบูรพกษัตริยาธิราชเจ้า โดยมี พระราชสิทธิโสภณ เจ้าคณะอำเภอผักไห่ เจ้าอาวาสวัดตูม พร้อมคณะสงฆ์รวม 10 รูป สวดมาติกา จากนั้นเวลา 10.00 น. ประธานฯ ได้ประกอบพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ในการทำบุญจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเหล่ากาชาดจังหวัด พร้อมด้วย นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ และผู้แทนหน่วยงาน ร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมและถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ พร้อมทั้งกรวดน้ำรับพร จากนั้น ประธานสงฆ์ ได้ประกอบพิธีเจิมป้ายจวนผู้ว่าราชการ เพื่อความเป็นมงคลในการปฏิบัติราชการของผู้ว่าราชการจังหวัด (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
จังหวัดสิงห์บุรี จัดพิธีรำลึกถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราชผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย
วันที่ 17 มกราคม 2566 นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะและกล่าวคำถวายราชสดุดี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วันพ่อขุนรามคำแงหมาราช ปีพุทธศักราช 2566 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ถนนวิไลจิตต์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี โดยมี หัวหน้าศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ปลัดจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอทุกอำเภอ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้งอถิ่น เข้าร่วมพิธี เพื่อร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย
พ่อขุนรามคำแหงเป็น มหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย มรดกของชาติที่สำคัญที่สุดของพระองค์คือ พระองค์ได้ทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาเมื่อ ปี พ.ศ. 1826 เป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้กันในทุกวันนี้ นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้ทรงรวบรวมแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็นราชอาณาจักรไทย ด้วยคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติที่พระองค์ท่านทำไว้ จึงมีการถวายพระราชสมัญญานามแด่พระองค์ท่านเป็น “มหาราช” พระองค์แรกของชาติไทย (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)
ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ติดตามโครงการ (ปศุสัตว์ OK)
นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี เข้าตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายไข่สดปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค (ปศุสัตว์ OK) และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย ซึ่งการตรวจติดตามร้านที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว พบว่ายังคงรักษามาตรฐานของสถานที่จำหน่ายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้จากการตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายไข่สดฯ จำนวน 5 แห่ง และสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ฯ จำนวน 2 แห่ง ยังได้เก็บตัวอย่างไข่สด และเนื้อสุกร ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาสารตกค้างและเชื้อปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)
ผู้ว่าฯอยุธยา นำบุคลากรทางการศึกษา ร่วมกันทำบุญเนื่องในวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2566
วันนี้ 16 มกราคม 2566 เวลา 07.30 น. ที่ โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานนำข้าราชการครู อาจารย์ และหน่วยงานจากสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดฯ ร่วมกันทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระสงฆ์ 99 รูป เพื่อเป็นสิริมงคล เนื่องวันครูแห่งชาติ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 67 และประกอบพิธีทำบุญในงานวันครู ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปี ต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 67 ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ครู อาจารย์ ที่ให้ความรู้ อบรมสั่งสอนศิษย์ให้เป็นคนดี ส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติครูและพัฒนาวิชาชีพครู สร้างความตระหนักให้สังคมให้รับรู้ถึงบทบาทของครูในการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรม จริยธรรม และการดำรงชีวิตให้กับลูกศิษย์ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครู รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามโดยมี นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นางสาวเต็มจิต จันทคา ศึกษาธิการจังหวัดฯ นางสุทธาทิพ ไชยรัตนะ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิราศาสตร์วิทยา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี
โอกาสนี้ ก่อนเริ่มพิธีมอบเกียรติบัตร นางสาวเต็มจิต จันทคา ศึกษาธิการจังหวัดฯ ได้อ่านสารของนายกรัฐมนตรี และ ดร.กัลยา มาลัย ผอ.สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ได้อ่านสารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันครู ประจำปี 2566 ครั้งที่ 67
จากนั้น นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบเกียรติบัตรให้กับครูผู้ที่มีผลงานดีเด่นของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 47 คน พร้อมทั้งกล่าวยกย่องและชื่นชมครูและบุคลากรทางการศึกษาของจังหวัดฯ ที่ได้ร่วมกันทำงานจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันพัฒนางานด้านการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง สามารถพัฒนาและรักษาวิชาชีพให้มีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับการศึกษาและผ่านการอบรมสั่งสอน กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไปได้ในอนาคต ให้สอดคล้องกับคำขวัญประจำปี 2566 ครั้งที่ 67 ที่ว่า “ครูดี ศิษย์ดี มีอนาคต” (เผอิญ – วุฒิภัทร ไทยสม / อยุธยา)
งานของดี และ กาชาดสระบุรี บ้านหมอครองแชมป์ “ร้องเพลงรำวงมหาดไทย”
เมื่อค่ำวันก่อน ที่บริเวณเวทีกลาง สนามหน้าอำเภอเมือง ภายในงานของดีและงานกาชาดจังหวัดสระบุรี ซึ่งจัดให้มีการแข่งขัน “ร้องเพลงรำวงมหาดไทย/รำวงสระบุรี” โดยมีแต่ละอำเภอ (13 อำเภอ) จัดส่ง นักร้อง/นักรำ เข้าประกวด มีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธาน นางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาด ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย จังหวัดสระบุรี รองผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการฯ นายสมจิตร คชฤทธิ์ สื่อมวลชนอาวุโส (ผู้แต่งเพลงรำวงสระบุรี) ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ในขณะเดียวกัน แต่ละอำเภอส่วนราชการ กลุ่มกองเชียร์ต่างพากันมาให้กำลังใจผู้แข่งขันเป็นจำนวนมากด้วย
โดยในรอบ (ตัดสิน) มีทีมผู้เข้าประกวดที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก มาแล้ว จำนวน 3 ทีมคือ อำเภอบ้านหมอ อำเภอแก่งคอย และอำเภอเสาไห้ ซึ่งทั้ง 3 ทีมต่างมีจุดเด่น ทั้งด้านการแสดง การแต่งกาย การส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่คณะ
ผลการตัดสิน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อำเภอบ้านหมอ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ อำเภอเสาไห้ รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ อำเภอแก่งคอย และรางวัลขวัญใจมหาชนเป็นของอำเภอแก่งคอย เช่นเดียวกัน
วัตถุประสงค์การจัดการประกวด “รำวงมหาดไทย” เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นการบูรณาการ การทำงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เสริมสร้างประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร (วิรัตน์ เดชะวราฤทธิ์ / สระบุรี)
ผบ.ศูนย์การบินตรวจความพร้อมหน่วยบินป้องกันไฟป่าและฝุ่นละออง
พลตรี สิริพล ชินบุตร ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก ตรวจความพร้อมหน่วยบินเฉพาะกิจ สนับสนุนภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ณ สนามบินสระพานนาค ภายในค่ายสมเด็จพระศรีนครินทรา ศูนย์การบินหทารบก อำเภอเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นการสนับสนุนภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเป็นไปตามที่กองทัพบกได้มอบหมายภารกิจให้ศูนย์การบินทหารบกได้เตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง ตามความเชื่อมั่นและมองเห็นถึงขีดความสามารถของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของหน่วยศูนย์การบินทหารบก จากผลการปฏิบัติภารกิจในที่ผ่านมา ที่ได้ปฏิบัติภารกิจการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของกองทัพบกในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอันสำคัญของชาติที่นอกเหนือจากภารกิจด้านการทหาร
จากการตรวจความพร้อมพบว่ากำลังพลหน่วยบินเฉพาะกิจมีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบอย่างเต็มกำลังและเต็มขีดความสามารถ ซึ่งได้มีการจักกำลังพล อากาศยานไร้คนขับ อากาศยานใช้งานทั่วไป แบบ 17 จำนวน 2 เครื่อง พร้อมถุงบรรจุน้ำดับเพลิง และยานพาหนะ โดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาการเกิดไฟป้าและหมอกควันและฝุ่นละอองลงได้ แต่ทั้งนี้ขอให้ประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการลดการเผาป่าหรือสิ่งที่ทำให้เกิดไฟไหม้ รวมทั้งสิ่งที่ก่อทำให้เกิดหมอกควันและฝุ่นละอองสร้างมลพิษให้เกิดขึ้น โดยการดำเนินการจะปฏิบัติภารกิจไปจนกว่าสถานการณ์ในภาพร่วมเข้าสู่สภาวะปกติ (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)
โครงการกิจกรรมสานสัมพันธ์งานวันครู ประจำปี 2566
วันที่ 16 มกราคม 2566 นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด เป็นประธานในโครงการกิจกรรมสานสัมพันธ์งานวันครู ประจำปี 2566 โดย นายสุทร บุญสิริชูโต ปลัดเทศบาล เป็นผู้อ่านสารจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันครู ปีพุทธศักราช 2566 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเทศบาลฯ และครูจากโรงเรียนเรียนในสังกัดเทศบาลฯ เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งการระลึกถึงความสำคัญของครู และกิจกรรมยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดเทศบาลฯ โดยได้จัดให้มีพิธีการทางศาสนา, พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ นำกล่าวสวดคำฉันท์ โดย นางประสพศรี โหมดชัง ข้าราชการบำนาญ, กล่าวคำปฏิญาณตน โดย นางรัติยา ศรีจงใจ ครูชำนาญการ โรงเรียนวัดบ่อ (นันทวิทยา) นครปากเกร็ด 1, มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “ครูดีศรีนครปากเกร็ด” ประจำปี 2566 ให้บุคลากรทางการศึกษาในสังกัด, รางวัล “สถานศึกษาที่มีการขับเคลื่อน การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ในสถานศึกษา ตามโครงการ เสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ในสถานศึกษา สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Moral Development School : MDS) ประจำปี 2565 และได้มีการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับการทำงานในวิชาชีพของครู โดย วิทยากรในการอบรม ดร.ธเนศ ศิริกิจ ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานเทศบาลนครปากเกร็ด (สมคิด – สมนึก ลือประดิษฐ / นนทบุรี)
รองผู้ว่าฯสระบุรีนำจิตอาสาพัฒนาเนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
วันที่ 17 มกราคม 2566 นายพลวรรธน์ เทียนชัยมงคล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม จิตอาสาพัฒนา ปรับปรุงภูมิทัศน์สถานศึกษา เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหง ที่บริเวณโรงเรียนอนุบาลหนองแซงศีลวุฒาจารย์ ตำบลหนองควายโซ อำเภอหนองแซงจังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ ด้วยทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีความสมัครสมานสามัคคี ร่วมมือร่วมใจประกอบกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขของชุมชนส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ จิตอาสาพระราชทาน ประชาชนจิตอาสา เข้าร่วมกิจกรรม ได้ลงมือร่วมกันตัดหญ้า ตัดแต่งกิ่งไม้ ทาสีทางม้าลาย เก็บขยะ ล้างพื้นทำความสะอาด พื้นที่บริเวณโรงเรียนอนุบาลหนองแซงฯ เพื่อให้เกิดความสะอาดสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ถวายพระราชกุศลน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 3 ในราชวงศ์พระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีอัจฉริยภาพด้านการปกครอง ในการดูแลปกป้องบ้านเมือง การค้า และการรวบรวมแคว้นต่าง ๆ และยังทรงมีพระปรีชาสามารถทรงคิดประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นมาเมื่อประมาณปีพุทธศักราช 1826 เรียกว่า “ลายเสือไทย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอักษรไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าที่คนไทยทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย พระราชกรณียกิจของพระองค์ ล้วนแต่เป็นการวางรากฐานแห่งความเจริญไว้ให้แก่ประเทศชาติและปวงชนชาวไทยมาจวบจนถึงวันนี้ (สมนึก สุขีรัตน์ / สระบุรี)
ตำรวจจราจร สภ.เมืองสิงห์บุรี ออกประชาสัมพันธ์ตัดคะแนนความประพฤติ ใบขับขี่ลดอุบัติเหตุ
หลังจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ประชาสัมพันธ์ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ หรือตัดแต้มใบขับขี่ เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจร เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 9 มกราคม 2566
วันที่ 16 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.เมืองสิงห์บุรี พ.ต.ท.ธนอรรถ ขันติคเชนชาติ สารวัตรจราจร สภ.เมืองสิงห์บุรี นำกำลังเจ้าหน้าที่ออกตั้งด่านกวดขันวินัยจราจรในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดสิงห์บุรี ณ ถนนสายเลี่ยงเมืองสิงห์บุรี-บางระจัน โดยเน้นย้ำประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนผู้กระทำผิดใน พ.ร.บ.จราจรหลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เริ่มใช้ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับขี่รถ
พ.ต.ท.ธนอรรถ ขันติคเชนชาติ สารวัตรจราจร สภ.เมืองสิงห์บุรี เปิดเผยว่า ระบบตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถหรือตัดแต้มใบขับขี่เพื่อเสริมสร้างวินัยจราจรเป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เริ่มบังคับใช้แล้วโดยมีอยู่ เรื่องที่ประชาชนจะต้องรู้คือ ตัด 1 คะแนน ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ, ไม่สวมหมวกกันน็อก, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย, ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด, ขับรถบนทางเท้า, ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย, ไม่หลบรถฉุกเฉิน, ขับรถโดยประมาทน่าหวาดเสียว, ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง, ไม่ติดป้ายภาษี ตัด 2 คะแนน ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร, ขับรถย้อนศร, ขับรถระหว่างโดนพักใช้ หรือเพิกถอนใบขับขี่ตัด 3 คะแนน ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ, ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา, ขับรถชนแล้วหนี ตัด 4 คะแนน เมาแล้วขับ, ขับรถในขณะเสพยาเสพติด, แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น
ซึ่งผู้ขับขี่ทุกคนมี 12 คะแนน ทำผิดกฎจราจรใน 20 ฐานความผิดที่อาจก่ออุบัติเหตุหรือไม่ชำระค่าปรับจราจรถูกตัดคะแนนตั้งแต่ 1 ถึง 4 คะแนนขึ้นอยู่กับความผิด หากถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 จะถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน ฝ่าฝืนขับรถในช่วงถูกพักใบขับขี่มีโทษจำคุก 3 เดือนและหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท คืนคะแนนได้ด้วยการเข้าอบรมกับกรมขนส่งทางบก หรือให้ครบ 1 ปีจะได้คะแนนคืนอัตโนมัติ หากถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 ภายในรอบ 3 ปี อาจถูกพักใช้ใบขับขี่มากกว่า 90 วัน และหลังจากนั้นภายใน 1 ปี หากถูกตัดคะแนนอีกจนถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภท
ช่องทางการตรวจสอบคะแนน เว็บไซต์ E-Ticket PTM โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ จ่ายค่าปรับ ตรวจสอบคะแนนความประพฤติ และตรวจสอบสถานะใบขับขี่, แอพพลิเคชั่น ขับดี (KHUB DEE) เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร และตรวจสอบใบสั่งค้างชำระ และคะแนนความประพฤติ และดำเนินการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่อันเป็นประโยชน์ต่าง ๆ ตอนนี้มีเฉพาะบน App Store (อำนาจ สุขเย็น / สิงห์บุรี)
ผอ.โรงพยาบาลศูนย์พระนครศรีอยุธยา เชิญสื่อหาแนวคิดในการพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อสร้างความประทับใจกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการ
นายแพทย์ ธเนศ ดุสิตสุนทรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับหัวหน้าพยาบาล ได้กล่าวถึงการพัฒนาระบบการทำงาน ซึ่งใช้เป็นระบบออนไลน์ ตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ามาถึงโรงพยาบาล ไม่ต้องใช้บัตรคิว แต่สามารถใช้กดที่เครื่อง ระบบก็จะลิงก์ไปแผนกต่างๆ ที่ผู้ป่วยเข้าถึงอย่างรวดเร็วและถูกต้อง นายแพทย์ ธเนศ กล่าวถึงการจัดแผนกการตรวจ โดยเฉพาะในแผนกหัวใจ จะต้องรวดเร็วและสามารถช่วยทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และคล่องตัว ไม่จำเป็นต้องส่งต่อตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นที่อยู่ไกล และการจราจรที่ติดขัด ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่ทันต่อการรักษาได้ และยังจะต้องปรับพื้นที่ของโรงพยาบาลให้สะอาดและทันสมัย รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ชำนาญการเฉพาะทาง และพยาบาลที่คอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด พร้อมให้ข้อแนะนำผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาอย่างประทับใจ
นางศศิธีทัช ปิ่นนิกร หัวหน้าศูนย์ข่าวสารประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงระบบการประชาสัมพันธ์ในการทำงานของโรงพยาบาล ด้วยการประสานกับสื่อ เพื่อนำเอาระบบการทำงานที่ไวและทันสมัย รวมทั้งบุคลากรทุกแผนกของโรงพยาบาลที่ดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วย พร้อมกับรับฟังปัญหาที่เกิดบกพร่อง พร้อมแก้ไขและเสนอผู้บริหารโรงพยาบาล เพื่อแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีรอยยิ้มที่มา (เผอิญ ไทยสม / อยุธยา)
รวมน้ำใจให้เหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี
ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมด้วย นางสุวจี ศิริปัญโญ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี ร่วมเป็นประธานเปิดงานวันรวมน้ำใจให้เหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี โดยมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำเงินและสิ่งของมาร่วมสนับสนุนกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ก็เพื่อจัดหางบประมาณ สิ่งของ เครื่องอุปโภค-บริโภค สำหรับมอบให้ผู้ประสบปัญหาภัยพิบัติ วาตภัย อัคคีภัย และงานสังคมสงเคราะห์ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และคนพิการ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยเหล่ากาชาดจังหวัดลพบุรี กำหนดแนวทางการช่วยเหลือประชาชน ผู้สูงอายุ คนพิการ คนป่วย คนยากไร้ ที่เดือดร้อน ร่วมกับอำเภอ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ มอบเงินสังคมสงเคราะห์ พร้อมเครื่องอุปโภค-บริโภค และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากไร้ในพื้นที่ สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซม และสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ยากไร้ สนับสนุนสร้างสุขาเพื่อให้ประชาชนได้รับสุขอนามัยที่ดี (กฤษณพงศ์ อยู่รอด – ธนพล อาภรณ์พงษ์ / ลพบุรี)