ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
การฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จะช่วยให้ทราบความพร้อมด้านสุขภาพของ ทั้งแม่และเด็กว่ามีความสมบูรณ์ดีหรือมีปัญหาอย่างไร ลดปัจจัยเสี่ยง การคลอดก่อนกำหนด การป่วยหรือเสียชีวิตของแม่และเด็ก ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ ให้ทั้งแม่และเด็กที่จะคลอดออกมามีสุขภาพกายใจแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี
เป็นการระบุโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในโอกาสคณะ สปสช. รวมถึง นพ.ชลอ ศานติ วรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี เยี่ยมชม โครงการ ‘มหัศจรรย์ 1,000 วัน” สร้างการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก ส่งเสริมภาคีเครือข่าย ชุมชน มีส่วนร่วมป้องกันส่งเสริมสุขภาพอนามัย แม่และเด็ก ณ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี
การลงพื้นที่ของคณะ สปสช. ครั้งนี้ มี นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิ, นพ.ธนา พุทธากรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง, นางงามจิต พระเนตร รักษาการผู้อำนวยการ สอน. ต.พิกุลทอง และ ว่าที่ ร.ต.พรรุ่ง เหมือนพงษ์ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลถอนสมอ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ให้การต้อนรับและนำเสนอ รายละเอียดการดำเนินโครงการฯ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานเพื่อเป็นต้นแบบในพื้นที่
ทั้งนี้ นพ.สุขสันติ ระบุถึง โครงการ “มหัศจรรย์ 1,000 วัน” ว่า ช่วยส่งเสริมแม่ที่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร กำลังใจ ความเข้าใจในขณะมี ที่ตั้งครรภ์ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีสุขภาพจิตที่ดี เพราะแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีภาวะความเครียดหรือกังวล ทั้งนี้ ในชุมชนสังคม อ.ท่าช้าง มีอัตราการเกิดติดลบ อัตราการเสียชีวิตมากกว่าเกิด เพราะปัจจุบันคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ อีกทั้งวัยแรงงานส่วนใหญ่จะมีลูกช้า เมื่อแต่งงานก็จะไม่มีลูกทันที และบางคนก็ตั้งใจ จะไม่มีลูก เมื่อมีเด็กเกิดใหม่จึงถือเป็นของขวัญให้ชุมชน เพราะจะเป็นผู้ดูแลชุมชนต่อไป ‘โครงการนี้ทำมาแล้ว 2 ปี และพบว่าเด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น น้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน”
ด้าน นางงามจิต ได้ให้ข้อมูลเสริมไว้ว่า ‘มหัศจรรย์ 1,000 วัน” เป็นโครงการเพื่อพัฒนา ระบบดูแลสตรีตั้งครรภ์ และเด็กอายุ 0-2 ปี กระตุ้นและส่งเสริมครอบครัว ชุมชน ให้ความสำคัญกับการดูแลเอาใจใส่สตรีตั้งครรภ์และเด็ก นอกจากนี้ยังสร้างความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย องค์กรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของครอบครัวในเรื่องนี้ ร่วมแก้ปัญหาให้ครอบครัว ตลอดจนสร้างโอกาสการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางสังคมที่พึงได้รับของสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุ 0-2 ปี ซึ่งเทศบาลตำบลถอนสมอสนับสนุนการดำเนินงาน
ทาง สอน. ต.พิกุลทอง นั้นมีการค้นหาสตรี ตั้งครรภ์เชิงรุก มีภาคีเครือข่าย ทีมพัฒนาเด็กและครอบครัว (Child & Family care Team : CFT) ระดับตำบลและหมู่บ้าน เยี่ยมบ้านสำรวจกลุ่มเป้าหมาย ครอบครัวใดที่วางแผนตั้งครรภ์ จะจัดยา เวชภัณฑ์ เช่น ยาโฟเลต เฟอร์รัส ไปมอบให้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์แรก จะจัดยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก โฟลิก ไอโอดีน จัดหาโภชนาการที่เหมาะสม นมจืด ไข่ไก่ อาหารบำรุงครรภ์ นำไปมอบให้ อีกทั้งยังมี “คลินิกสุขภาพคุณแม่สดใสเด็กไทยสุขภาพดี” บริการคลินิกพิเศษทุกพุธที่ 3 ของเดือน ให้บริการวัคซีน ตรวจคัดกรอง ดูแลสุขภาพแม่ กระตุ้นพัฒนาการเด็ก ให้คำปรึกษาดูแลขณะตั้งครรภ์ และเยี่ยมหลังคลอด
สำหรับเทศบาลตำบลถอนสมอ ว่าที่ ร.ต.พรรุ่ง ระบุว่า โครงการ “มหัศจรรย์ 1,000 วัน” ได้ รับความร่วมมือจาก สอน. โรงพยาบาลพี่เลี้ยง ภาคี เครือข่าย และทีมพัฒนาเด็กและครอบครัว โดยนำ งบประมาณจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับ ท้องถิ่น (กปท.) เทศบาลตำบลถอนสมอ สนับสนุนการทำงานของทีมพัฒนาฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการเยี่ยมและให้กำลังใจสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และครอบครัว ‘และยังมีการจัดกิจกรรมประเมินกาย-จิต-สังคม จัดทำ Care plan แก้ปัญหาให้สตรีตั้งครรภ์ เด็ก และครอบครัว”
การลงพื้นที่ของคณะ สปสช. ครั้งนี้มีการเยี่ยมบ้านสตรีที่เข้า โครงการ ‘มหัศจรรย์ 1,000 วัน” ด้วย โดยได้เยี่ยมบ้าน นางพัชรินทร์ ปูนขุนทด อายุ 31 ปี ที่ตั้งครรภ์ 8 เดือน และ นางทิพวรรณ ศรีนัด อายุ 33 ปี ที่ตอนนี้มีลูกคนแรกอายุ 8 เดือน ซึ่งต่างก็ระบุคล้าย ๆ กันว่า รู้สึกอบอุ่น รู้สึกดีมากที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ที่สร้างการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็กได้ดีมาก มีหมออนามัย อสม. มาให้คำปรึกษาตลอด ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ไปจนคลอด รวมถึงการดูแลเลี้ยงดูลูกด้วย
ทั้งนี้ นพ.จเด็จ เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยในโอกาสนี้ไว้ด้วยว่า สปสช. มีการขยายสิทธิให้สตรีมีครรภ์ฝากครรภ์ได้ถึง 8 ครั้ง เพื่อให้ได้เข้าสู่ระบบการดูแลเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงได้รับการตรวจยืนยันธาลัส ซีเมีย และภาวะดาวน์ซินโดรมทุกขั้นตอน ซึ่งตอนนี้ สิทธิบริการดูแลฝากครรภ์เป็นสิทธิใน ‘ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” สำหรับคนไทยในทุกสิทธิ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรืออื่น ๆ ทางหน่วยบริการจะเก็บค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ที่จากเดิมเบิก จ่ายได้ 5 ครั้ง ตอนนี้เพิ่มตามแนวทางของกรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็น 8 ครั้ง หรือ จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้จำกัดครั้ง หากแพทย์พิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็นตามกรณีของสตรีตั้งครรภ์ แต่ละราย
‘และในปี 2565 นี้ยังได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้สามีหรือคู่ของสตรีตั้งครรภ์ทุกรายได้รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคธาลัส ซีเมียพร้อมสตรีตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสามีที่จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ และเพื่อให้สามารถวางแผนดูแลขณะตั้งครรภ์หรือเตรียมความพร้อมของพ่อแม่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว.