เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 10 กันยายน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยทีมบริหารและ ส.จ.พื้นที่เขตอำเภอหนองเสือ ลงพื้นที่ตรวจการขุดลอกคลองที่ตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เพื่อกำจัดวัชพืชเปิดทางระบายน้ำรองรับมวลน้ำเหนือซึ่งกำลังมาในช่วงฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 7 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ว่าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จำเป็นต้องเร่งพร่องน้ำลงท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป เพราะว่ามวลน้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ได้มารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านจังหวัดนครสวรรค์ ที่ 1,699 ลบ.ม.ต่อวินาที แล้ว ทางเขื่อนเจ้าพระยาจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำเหนือหลาก เพื่อผลักดันลงสู่ทะเล ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา และจะพยายามทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
โดยปัจจุบันได้ระบายน้ำลงท้ายเขื่อนที่ 1,267 ลบ.ม./วินาที และจะต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นไปอีกในช่วงนี้ แต่จะพยายามระบายไม่ให้เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานกรมชลประทานในรายชื่อจังหวัดดังกล่าว ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ให้ระมัดระวังและเตรียมความพร้อม
ในส่วนของจังหวัดปทุมธานีนั้นถือเป็นด่านสำคัญในการรับน้ำเหนือทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ทุ่งรังสิต ในเขตอำเภอหนองเสือ และอำเภอคลองหลวง ซึ่งจะรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำมาทางคลองระพีพัฒน์ และเข้าคลองระบายน้ำต่างๆ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไหลลงมาสู่จังหวัดปทุมธานี ส่วนประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ (ตลาดรังสิต) ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เร่งระบายน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์สู่แม่น้ำเจ้าพระยาหลังจากมีฝนตกหนักเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เทศบาลนครรังสิตนำรถแบ๊กโฮขุดลอกคลองเพื่อระบายน้ำบริเวณริมเขื่อนสะพานแดง พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำออกป้องกันน้ำล้นท่อระบายน้ำและท่วมบ้านเรือนประชาชน
ทางด้าน นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการชลประทานรังสิตใต้ เปิดเผยว่า ระดับน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ อยู่ในระดับควบคุมได้ แต่เนื่องจากน้ำจากนครนายกมีปริมาณจำนวนมากจึงถูกระบายเข้าสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ทำให้จำนวนปริมาณน้ำมีมากขึ้น ซึ่งที่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เป็นสถานีควบคุมน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ในการสูบออกลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก็ยังสามารถคอนโทรลตามระบบได้ ส่วนคลองเปรมประชากรในขณะนี้มีจำนวนปริมาณน้ำมาก ก็ต้องสูบออกลงคลองรังสิตประยูรศักดิ์เช่นกัน และที่กรุงเทพมหานครติดกับปทุมธานี ใช้วิธีป้องกันน้ำท่วมด้วยการสูบน้ำเข้าคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อสูบออกลงแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงที่น้ำทะเลหนุน
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่