สถานการณ์น้ำท่วมขังยังวิกฤติหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำลำตะคอง ท่วมขังพื้นที่ 23 ชุมชนริมลำตะคองในตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทางยาว 9 กิโลเมตร ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 4,000 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูงถึงหน้าอก โดยเฉพาะที่ชุมชนหมู่บ้านวีไอพี เป็นบ้านหรูหราระดับคฤหาสน์ของบรรดาพ่อค้า คหบดี ข้าราชการระดับสูง และเศรษฐีของเมืองโคราช ถูกน้ำท่วมถนนตรอกซอกซอยและทะลักท่วมภายในตัวบ้านทั้งหมด ระดับน้ำลึกถึงต้นคอบางจุดเกือบมิดหัว เนื่องจากสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำติดกับลำตะคอง ต้องใช้เรือยนต์ของทหารและหน่วยกู้ภัยคอยช่วยเหลือชาวบ้านสัญจรเข้า-ออก
ที่แม่ศรีฟาร์ม ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา เป็นบ่อเลี้ยงปลาหมอชุมพร 1 หรือปลาหมอยักษ์ ของนายณัฐวัฒน์ บำเหน็จพันธ์ อายุ 50 ปี ถูกมวลน้ำจากลำตะคองไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่หวั่นปลาลอยไปกับน้ำ นายณัฐวัฒน์เปิดเผยว่า เลี้ยงปลาหมอชุมพร 1 มาประมาณ 20 ปีแล้ว มีทั้งหมด 3 บ่อ เลี้ยงลูกปลาหมอและปลาหมอตัวใหญ่พร้อมขายรวมกันประมาณ 100,000 ตัว ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำท่วมมากขนาดนี้มาก่อน ปีนี้น้ำมาเร็วมากไหลเข้าท่วมบ่อปลาในช่วงกลางดึกตั้งตัวไม่ทัน รีบใช้ตาข่ายกันรอบบ่อไว้ถึง 2 ชั้น และต้องให้อาหารเพื่อหลอกล่อให้ปลาไม่ออกจากบ่อ เนื่องจากนิสัยของปลาหากเจอน้ำใหม่จะชอบไหลไปตามน้ำ ไม่แน่ใจว่าจะเหลือปลาในบ่อมากน้อยแค่ไหน คาดว่าจะเสียหายนับแสนบาท
นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผอ.โครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ทั้งหมดมีปริมาณเต็มความจุ 100 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีเพียงอ่างเก็บน้ำลำแชะที่มีปริมาณน้ำ 98 เปอร์เซ็นต์ของความจุ ส่วนอ่างเก็บน้ำลำตะคองถึงแม้ปริมาณน้ำเต็มความจุ แต่ไม่มีการระบายน้ำ หรือปล่อยน้ำออกมาแต่อย่างใด อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิงมีปริมาณน้ำไหลเข้ากับปริมาณไหลน้ำออกใกล้เคียงกัน ไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนท้ายอ่าง ส่วนอ่างลำมูลบนและอ่างเก็บน้ำลำแชะสามารถควบคุมการระบายน้ำได้เช่นกัน ทั้งนี้มวลน้ำที่ไหลออกจากอ่างเก็บน้ำภายใน 1-2 สัปดาห์จะไหลลงลำมูลส่งผลให้ระดับน้ำลำมูลสูงขึ้น
ด้านนายเรืองโชค ชัยคำรงค์กุล ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพรม-เชิญ สำนักงานชลประทานที่ 6 นายพีระพงศ์ หมื่นผ่อง ปภ.จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยนายสมจิตร์ เถาเมฆ นายกเทศมนตรีตำบลโนนทอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจโครงการประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญที่ ต.โนนทอง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เพื่อดูการระบายน้ำ นายเรืองโชคกล่าวว่า ประตูระบายน้ำแห่งนี้เป็นแกนกั้นลำน้ำเชิญมีต้นน้ำมาจาก อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ไหลลงมารวมกันที่ อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ ขณะนี้มวลน้ำปริมาณมากไหลทะลักเข้าพื้นที่ แล้วจะไหลลงไปสู่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด คาดว่าวันที่ 28 ต.ค.จะถึง จ.อุบลราชธานี ขณะนี้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังมวลน้ำลูกใหม่ ส่งผลกระทบน้ำท่วมฉับพลัน
นอกจากนี้ มวลน้ำชีเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ จ.มหาสารคาม ในพื้นที่ลุ่มทั้ง 6 อำเภอ น้ำไหลเอ่อมาที่ถนนบ้านม่วง-ท่าตูม ตำบลท่าตูม อ.เมืองมหาสารคาม เกิดรอยรั่วขนาดใหญ่ทะลุถนนน้ำเซาะเป็นโพลงยาวประมาณ 5 เมตร น้ำลอดผ่านไปอีกฝั่งไหลเข้าไปที่ห้วยคะคาง จะทำให้น้ำไหลย้อนกลับเข้าไปที่ตัวเมือง เจ้าหน้าที่ชลประทานมหาสารคามนำเครื่องจักร ถุงบิ๊กแบ็ก ทรายและไม้ยูคาลิปตัส อุดรูรั่วกั้นน้ำไม่ให้ไหลลอดถนน แต่น้ำไหลแรงมากการทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก
ส่วนพื้นที่ ต.ดินดำ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด มวลน้ำชี เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ระดับน้ำสูง เกือบคอ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก วัด และบ้านเรือนถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราว เริ่มขาดอาหารและน้ำประทังชีวิต ส่วนการ เดินทางต้องใช้เรือเท่านั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่นำรถครัวสนามและรถผลิตน้ำดื่มเข้าช่วยประชาชน 90 ครัวเรือน ที่พักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว ด้านผู้นำชุมชนอยู่ระหว่างสำรวจครอบครัวที่เฝ้าของอยู่ในบ้าน หากต้องการความช่วยเหลือให้ปักธง หรือ ผ้าแดง เจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือทันที
ขณะที่ศูนย์บัญชาการอุทกภัย จ.ร้อยเอ็ด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินรวม 7 อำเภอ 130 หมู่บ้าน คือ อ.จังหาร อ.เสลภูมิ อ.โพธิ์ชัย อ.พนมไพร อ.อาจสามารถ อ.โพนทราย และ อ.ธวัชบุรี มีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้ว 63,907 ไร่ ที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบ 2 อำเภอในพื้นที่ อ.จังหาร และ อ.เชียงขวัญ จำนวน 253 หลัง มีหมู่บ้านถูกน้ำท่วมถูกตัดขาดการสัญจร 2 หมู่บ้าน 112 ครัวเรือน
สำหรับพื้นที่ในภาคกลางชาวบ้านที่หมู่บ้านชนาการ ต.อุทัยใหม่ อ.เมืองอุทัยธานี เป็นหมู่บ้าน ที่อยู่ติดกับแม่น้ำสะแกกรัง น้ำเข้าท่วมสูงถึงหัวเข่า เป็นเวลานานได้รับความเดือดร้อน ด้านนางศรีรัตน์ ปานบุตร อายุ 61 ปี ชาวบ้านเปิดเผยว่า น้ำท่วมขัง มากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ช่วงนี้ อยากได้ข้าวสารอาหารแห้งมาประทังชีวิต เพราะออก ไปไหนไม่ได้ ชีวิตอยู่อย่างลำบากกลัวงูและสัตว์มีพิษ เข้ามาในบ้าน น้ำเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่า ขอให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน ส่วนที่วัดธรรมโศภิต หรือวัดโค่ง เขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีน้ำท่วมสูง พระต้องย้ายม้าหลายตัวที่ญาติโยมนำมาถวายวัดไปอยู่ที่ถนนชั่วคราว
ที่บริเวณถนนทางหลวงชนบท หมายเลข 2034 สายอ่างทอง-ไชโย หมู่ 3 ตำบลจระเข้ร้อง อ.ไชโย จ.อ่างทอง กระแสน้ำเจ้าพระยาที่ยังคงเอ่อล้นเข้าท่วม บ้านเรือนในหมู่ 3 ต.จรเข้ร้อง ไหลผ่านคันกั้นน้ำ ข้ามถนนทางหลวงชนบทอีกฝั่ง ทำให้บางจุดน้ำล้นคันคลองไหลสู่บ้านเรือนและพื้นที่ทำการเกษตรในพื้นที่ หมู่ 4 ต.จรเข้ร้อง และหมู่ 4 และหมู่ 6 ต.ชัยฤทธิ์ อ.ไชโย ส่งผลให้ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งถนน ร่วม 100 คน เกิดมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เจ้าหน้าที่ อ.ไชโย เข้าเจรจาเพื่อหาข้อยุติและทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ทั้ง 2 ฝ่าย นำแบริเออร์มาวางช่องเว้นช่องเพื่อชะลอน้ำ ให้ไหลผ่านลดน้อยลง ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจและแยกย้ายกันกลับบ้าน
นายชัยชาญ สิทธิวิรัชธรรม ผวจ.สิงห์บุรี และนายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.สิงห์บุรี ลงพื้นที่เพื่อตรวจดูสถานการณ์น้ำและหาทางแก้ไขให้น้ำลดลง ตรวจที่บริเวณพนังกั้นน้ำพังที่หมู่ 4 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ตำรวจ ตชด.นำกำลังวางกระสอบ ทรายและถุงบิ๊กแบ็กปิดรอยรั่วเสร็จแล้ว และเร่งสูบระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนกว่า 820 ครัวเรือน
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. นาย ณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผวจ.สุพรรณบุรี ขึ้นบินสำรวจ ปริมาณน้ำและความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมร่วมหารือกับนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในการบริหารจัดการมวลน้ำเพื่อเร่งหาทางแก้ปัญหา นายวราวุธเปิดเผยว่า ร่วมหารือกับรองอธิบดีกรมชลฯ ว่า พื้นที่ทุ่งรับน้ำยังสามารถรับน้ำและกระจายน้ำออกไปได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะรองรับมวลน้ำใหม่อีกระลอก เพราะมวลน้ำที่กรมชลฯ ช่วยหน่วงเอาไว้ แต่ละช่วงของประตูน้ำ ท้ายที่สุดแล้วจะต้องปล่อยลงมา ฉะนั้นต้องวางแผนศึกษาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ปภ.ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลร่องมรสุมส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญจนบุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 15,205 ครัวเรือน ไม่มี ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมี สถานการณ์ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีสะเกษ จ.นครปฐม และ จ.สระแก้ว ส่วนอิทธิพลพายุ “คมปาซุ” เมื่อวันที่ 15-17 ต.ค. เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัดยังคงมีสถานการณ์ 2 จังหวัด ที่ จ.ลพบุรี และปราจีนบุรี ส่วนผลกระทบจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ที่ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 33 จังหวัด ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว 27 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด ที่ จ.มหาสารคาม จ.สุพรรณบุรี จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานสภาพอากาศ ว่า บริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่อีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นบางพื้นที่ในระยะแรก และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชก แรงที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย