“ข้าว” พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย มียอดส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากประเทศอินเดีย และยังเป็นอาหารหลักของคนไทย แต่เบื้องหลังกระบวนการทำนา มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อิงตามรายงานความก้าวหน้ารายสองปี ฉบับที่ 2 (The 2nd Biennial update report: SBUR) ระบุว่า ภาคเกษตรไทย ยังคงมีวิถีการทำนาแบบดั้งเดิมที่นิยมให้มีน้ำขังอยู่ในแปลงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาก๊าซมีเทน ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากถึง 55% ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า
ดังนั้นในการเพิ่มพื้นที่การทำนาข้าวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ จะช่วยให้มีศักยภาพสูงมากในการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างดี เกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ของการผลิตข้าว จึงเป็นกำลังการขับเคลื่อนสำคัญที่ต้องเริ่มหันมาคำนึงถึงประโยชน์และร่วมมือกันเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ทำโครงการการทำนาที่ลดผลกระทบจากโลกร้อน หรือที่เรียกว่า โครงการ Thai Rice NAMA โดย GIZ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร จาก NAMA Facility กองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกรหนึ่งแสนครัวเรือนในเขต 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จ.ชัยนาท,สิงห์บุรี,อ่างทอง,พระนครศรีอยุธยา,ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.8 ล้านไร่ เป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++) มีมาตรการจูงใจสนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบในการลดการปล่อยก๊าซ
ผลสำเร็จของแนวทางการทำนาข้าวที่ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศน้อยลง หรือการทำนายั่งยืน ในโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคเกษตรกรรม(Thai-German Climate Programmer-Agriculture) ในพื้นที่ลุ่มจ้าพระยา 6 จังหวัด ดังกลาว มีเกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากภาคส่วนการเกษตรทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัดเข้ารับการฝึกอบรมการผลิตข้าวยั่งยืนรวม 30,389 คน รวมพื้นที่นากว่า 2 ล้านไร่
โดยทั้ง 6 จังหวัด ได้ร่วมอบรมและปรับรูปแบบการทำนา เป็นการทำนาแบบยั่งยืน คือ การปรับเปลี่ยนที่ประยุกต์กับการทำนาแบบดั้งเดิมของไทยผ่าน 4 วิธีหลัก ได้แก่ 1.ใช้เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ ที่มีความละเอียดแม่นยำ สามารถปรับหน้าดินในสภาพที่ดินแห้งได้มีประสิต่อทธิภาพ เหมาะสมในระดับความคลาดเคลื่อน +/- 2 ซม. ทั่วแปลง 2.การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าว โดยข้าวต้องการน้ำมากที่สุดตั้งแต่ 20 ก่อนการออกร่วง และ 20 วันหลังการออกรวง ซึ่งไม่ใช่การขังน้ำไว้ในนาตลอดเวลา เพราะน้ำที่ขังในนาเป็นระยะเวลานานทำให้เกิดการสะสมของก๊าซมีเทนได้มาก
3.เทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารในนาข้าว ตั้งแต่การเลือกใช้ชนิดปุ๋ยให้เหมาะสม เพียงพอ ให้ตรงตามเวลาที่ข้าวต้องการ คือ ระยะกล้า ระยะแตกกอ และ ระยะสร้างรวงอ่อน และ 4.เทคโนโลยีการจัดการฟางข้าวและตอซังข้าว โดยไม่ใช้วิธีการเผา คือ การไถกลบฟาง/ตอซังขาวลงในนา และ ย้ายฟางข้าวออกจากนา ไปเป็นอาหารสัตว์ วัสดุทำเพาะเห็ด หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ บวกกับอีก 1 วิธี คือ ใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การใช้กับดักแสงไฟ ตาข่าย ปลูกพืชเป็นแนวกันชน และทางเลือกสุดท้ายคือการใช้สารเคมี
หลังจากทำนาด้วยวิธีดังกล่าวแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ ระบบการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ(Measurement, Reporting and Verification :MRV) เพื่อจัดเก็บและติดตามข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ ที่ช่วยวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ทางโครงการฯได้พัฒนาขึ้น ซึ่งในช่วงก่อนเริ่มโครงการฯ ได้มีการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากนาข้าวทั้ง 6 จังหวัดได้ 1.22 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หลังจากทำโครงการฯได้ 4 ปี จึงมีการประเมินอีกครั้งพบว่าก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าวปลดปล่อยลดลง 0.87 ตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี หรือ 29% ต่อฤดู
กฤษ อุตตมะเวทิน รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ข้าวในประเทศไทยยังคงดี ซึ่งผลผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 30 ล้านตัน และข้าวสารประมาณ 20 ล้านตัน โดยราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดของข้าวแต่ละชนิด ด้านการส่งออกข้าวไทยประเภทข้าวเปลือกประมาณ 10 ล้านตัน และข้าวสาร 6-7 ล้านตัน ครองตำแหน่งประเทศการส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 เนื่องจากมีพื้นที่การปลูกน้อยกว่าอินเดียที่ครองอันดับ 1 ทั้งนี้ในด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ร่วมกับโครงการฯของ GIZ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะการใช้ระบบ MRV ในตรวจวัดก๊าซเรือนกระจก ในพื้นที่นำร่องทั้ง 6 จังหวัด จำนวนกว่า 2 ล้านไร่นั้น พบว่าสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้เกือบ 1 ล้านตันคาร์บอนได้ออกไซด์เทียบเท่า
“โครงการทำนาแบบยั่งยืนนี้ ทำให้ชาวนาได้ทั้งประโยชน์ในการลดต้นทุน ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปรับสู่การผลิตสมัยใหม่ ลดข้อกีดกั้นผลผลิตจากนานาชาติด้วยมีวิธีการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการออกสัญลักษณ์ในการรองรับมาตรฐาน จึงนับว่าเป็นอีกแผนงานในผนวกการทำนายั่งยืนมาปรับใช้ในเกษตรกรที่จะมีการขยายพื้นที่ต่อไปอีก 25 จังหวัด อย่างไรก็ตามต้องสร้างความใจให้กับเกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนวิถีการทำนา เบื้องต้นก็ได้มีการพัฒนาคู่มือการจัดทำระบบ MRV และเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ ชุดสื่อการเรียนรู้การผลิตข้าวยั่งยืน”กฤษ กล่าว
ดร.โทมัส แยเคล ผู้เชี่ยวชาญ GIZ-CIM ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ 6 จังหวัดว่า ในการประเมินการตรวจสอบที่สำคัญคือพื้นที่และวิธีการทำนา โดยในการตรวจวัดคือการนำตัวอย่างก๊าซที่พบในนาใส่ลงไปในเครื่องก๊าซโครมาโตกราฟ เพื่อนำไปคำนวนการปลดปล่อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นกลางและนำไปใส่ในระบบ MRV โดยในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด ผลที่ได้มาจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าในช่วงฤดูฝนปี 2019-2021 ที่มีน้ำเยอะ พบว่ามีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าฤดูอื่นๆ อย่างในพิ้นที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยามากที่สุดเมื่อเทียบกับอีก 5 จังหวัด อีกทั้งยังมีสภาพภูมิจังหวัดลักษณะเป็นแอ่ง จึงเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นอีกปัจจัย นอกจากการทำนาแบบเดิม
ดร.โทมัส กล่าวอีกว่า ในการทำนาแบบเดิมของชาวนาพบในแปลงนาสาธิตของจ.ปทุมธานีพบการปล่อยก๊าซมีเทน 3.58 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ส่วนอีก 5 จังหวัดเฉลี่ยมีการปล่อยก๊าซมีเทนราวๆ 1.23 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน เท่ากับว่าจ.ปทุมธานีมีการปลดปล่อยสูงถึง 3 เท่า แต่หลังจากมีการปรับการใช้น้ำในแปลงนา พบค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซมีเทนจ.ปทุมธานีลดลงราวๆ 1.88 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน และจังหวัดอื่นก็ลดลงรวมเฉลี่ย 0.50 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ต่อวัน ยิ่งในช่วงฤดูแล้งก็ทำให้ก๊าซมีเทนที่ถูกปลดปล่อยลดลง รวมไปถึงราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นด้วย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะช่วยทำให้เกิดการบูรณาการในภาคการเกษตรอื่นๆ และการใช้เทคโนโลยีต่างก็สามารถนำไปใช้กับพืชเกษตรที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้าวเท่านั้นอีกด้วย
โครงการจะจบลงในปี 2566 ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกดำเนินโครงการนำร่องผลิตข้าวที่ยั่งยืน โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำนา สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทยต่อไป