กระทรวงสาธารณสุข ร่วม กทม.และเครือข่าย เร่งค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงพื้นที่กทม. 4 กลุ่ม ตั้งเป้าตรวจ 26,000 ราย ต่อสัปดาห์ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เร็วที่สุด
วันที่ 6 พ.ค. 2564 นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ระลอก เม.ย. 2564 จำนวน 1,911 ราย จากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,749 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 153 ราย จากต่างประเทศ 9 ราย มึรักษาหายเพิ่ม 2,435 ราย ทำให้มีผู้หายป่วยสะสม 19,369 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 29,680 ราย แต่มีอาการหนักสูงถึง 1,073 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 356 ราย
และ มีผู้เสียชีวิต 18 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 13 ราย อายุระหว่าง 45-100 ปี อยู่ใน กทม. 6 ราย สมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี ยะลา และสิงห์บุรี จังหวัด ละ 1 ราย ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อมาจากการสัมผัสในครอบครัว เพื่อน เดินทางและอาศัยในพื้นที่เสี่ยง
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิดสะสม 1,601,833 โดส เป็นวัคซีนเข็มแรก 1,167,719 ราย ครบ 2 เข็ม 434,114 ราย โดยวันที่ 5 พฤษภาคม ฉีดวัคซีน 28,758 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 17,155 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 11,603 ราย
นายแพทย์เฉวตสรร กล่าวต่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ไทยยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลจำนวนมากโดยพบถึง 1,298 ราย ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกัน 604 ราย จึงต้องเข้มมาตรการต่างๆ ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลทั้งการค้นหาคัดกรองเชิงรุก ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ แยกผู้ติดเชื้อตามระดับอาการและนำเข้าสู่ระบบรักษา
ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจัยสำคัญของการแพร่เชื้อยังคงเป็นการสัมผัสจากบุคคลในครอบครัวและกลุ่มเพื่อน
สำหรับในเขตกทม.พบผู้ติดเชื้อสูงสุด10 อันดับ ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน วัฒนา จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ และบางแค กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับ กทม. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงด้วยรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานใน 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 กลุ่มก้อนการระบาด (Cluster) ตั้งเป้าตรวจสัปดาห์ละ 9,300 คน
กลุ่มที่ 2 ใน 6 กลุ่มเขตพื้นที่ กทม. วันละ 3,000 คน
กลุ่มที่ 3 สถานที่สังเกตอาการในที่พักอาศัย (Home Quarantine) สัปดาห์ละ 1,750 คน
กลุ่มที่ 4 สถานกักกันโรค (Local Quarantine) สัปดาห์ละ 1,800 คน
โดยตั้งเป้าตรวจ26,000 รายต่อสัปดาห์ โดยสัปดาห์นี้ตรวจไปแล้ว 26,850 ราย รวมทั้งได้เตรียมเตียงรับผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1,343 เตียง
ด้านสถานการณ์ยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขได้มีแผนจัดเตรียมสำรองปริมาณยาคงคลัง เพื่อให้เพียงพอใช้รักษาผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยยาฟาวิพิราเวียร์จะสำรองไว้ จำนวน 2 ล้านเม็ด ขณะนี้มี 1.4 ล้านเม็ด ได้สั่งซื้อเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องให้เพียงพอต่อการใช้และการสำรอง ส่วนยาเรมเดซิเวียร์มี 3,918 ขวด อยู่ในระดับเพียงพอต่อการใช้ โดยได้มีระบบติดตามการใช้อย่างใกล้ชิด ไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนยา