กาฬสินธุ์น้ำซัดถนนขาด ส่วนการซ่อมพนังกั้นน้ำชีใกล้เสร็จ ชาวมหาสารคามเริ่มป่วยหลังอพยพมาอยู่ริมถนนสู้กับอากาศหนาวและยุงชุม สิงห์บุรีบิ๊กคลีนนิ่งทำความสะอาดถนน “บิ๊กป้อม” เดินหน้าแก้ไขน้ำท่วมระยะยาว ส่วนนายกฯจัดงบฯกลาง 2 พันล้านช่วยชาวบ้าน กรมอุตุฯเตือนภาคใต้ฝนตกหนัก
สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายหลายพื้นที่ โดยเมื่อเช้าวันที่ 25 ต.ค.สถานการณ์พนังกั้นน้ำลำน้ำชีขาดที่บ้านสะดำสี ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ดำเนินการซ่อมพนังทั้งสองฝั่งเชื่อมกันเสร็จแล้ว แต่ยังพบว่ามีรอยรั่วซึม เนื่องจากวัสดุที่ใช้อุดรอยรั่วเป็นเสาไฟฟ้าและตะแกรงเหล็ก เจ้าหน้าที่ดำเนินการปิดรอยรั่วใช้กระสอบทรายมากั้นอีกชั้น เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่ เหตุการณ์พนังกั้นน้ำชีขาด ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ คือ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย มีบ้านเรือนเสียหาย 1,500 ครัวเรือน 15 หมู่บ้าน พื้นที่ไร่นา 80,000 ไร่ ขณะนี้หลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือจนกว่าระดับน้ำจะลดลงเป็นปกติ พร้อมส่งทีมแพทย์เข้าตรวจสอบสุขภาพและสภาพจิตใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนถนนพนังชีจากบ้านสีถานไปยังบ้านท่ากลาง ต.เจ้าที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กระแสน้ำเซาะขาดเป็นแนวยาวต้องปิดการจราจร เจ้าหน้าที่แจ้งผู้ใช้รถใช้ถนนเส้นทางดังกล่าว หากต้องการเดินทางไปยัง จ.ร้อยเอ็ด ให้ใช้เส้นทางเลี่ยงอื่นแทน เร่งดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนที่สุด
ขณะเดียวกัน แม่น้ำชีเอ่อท่วมบ้านโนนนกหอ-บ้านโนนสุวรรณ ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสาร คาม กว่า 2 สัปดาห์ ชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน 250 ครัวเรือน อพยพหนีน้ำท่วมไปอาศัยริมถนนเลียบคลองชลประทาน ผู้ประสบอุทกภัยใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากต้องสู้กับสภาพอากาศที่หนาวเย็นและยุงชุม และเริ่มป่วยเป็นโรคน้ำกัดเท้าวอนเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดมหาสารคาม รวม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย อ.เมืองมหาสารคาม และ อ.เชียงยืน 46 ตำบล 557 หมู่บ้าน 5 ชุมชน หมู่บ้านถูกตัดขาด 14 ตำบล 71 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,565 ครัวเรือน 41,769 คน เสียชีวิต 9 คน
ที่บริเวณถนนสายสิงห์บุรี-บางพาน ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เทศบาลเมืองสิงห์บุรี นายณรงค์ศักดิ์ วิงวอน นายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรี ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของเทศบาลทำความสะอาดถนนฝั่งขาออกข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังถนนสายเอเชีย หลังจากที่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับลงกว่า 70 ซม. และผิวการจราจรบริเวณถนนแห้งแล้ว เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองสิงห์บุรีนำรถดับเพลิงและรถบรรทุกน้ำมาฉีดทำความสะอาดผิวถนนตั้งแต่เชิงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาหรือสะพานบางระจัน ไปจนถึงสี่แยกศาลหลักเมืองความยาว 300 เมตร พื้นผิวถนนเต็มไปด้วยโคลนและทรายที่นำไปกันน้ำไว้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังปรับภูมิทัศน์ตัดหญ้าเกาะกลางถนน ทำความสะอาดฟุตปาท 2 ข้างให้สะอาดและสวยงาม เก็บกระสอบทรายที่กั้นน้ำบริเวณเกาะกลางถนนออก เพื่อที่จะเปิดการจราจรให้รถสามารถสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เส้นทางขาออกข้ามสะพานบางระจันได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวสำรวจที่วัดบางนา หมู่ 1 ต.บางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี พบว่าภายในลานวัดยังมีน้ำท่วมขังสูงถึงหัวเข่า บริเวณรอบๆวัดยังมีแนวกระสอบทรายสูงถึง 5-6 ชั้น แต่น้ำยังซึมท่วมพื้นที่ชั้นใน ทำให้โบสถ์มีน้ำขังอยู่ พระและลูกศิษย์รวมทั้ง ชาวบ้านที่เป็นจิตอาสาเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ ผลัดเปลี่ยน เวรกันตลอด 24 ชม.เพื่อให้บริเวณภายในลานวัดและรอบโบสถ์แห้งสนิท เนื่องจากในวันที่ 30 ต.ค. จะมีงานทอดกฐิน เกรงว่าญาติโยมจะเดินทางเข้าออกลำบาก
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 990 ชุด ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบภัย ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอดอนพุด จ.สระบุรี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและช่วยบรรเทาความเดือดร้อน มีนายผล ดำธรรม ผวจ.สระบุรี นายจงรัก เพชรเสน นายอำเภอดอนพุด และผู้นำชุมชนเป็นตัวแทนราษฎรที่ประสบอุทกภัยเข้ารับมอบถุงพระราชทาน สำหรับพื้นที่ อ.ดอนพุด เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของประตูระบายน้ำตาเมฆ ประกอบกับเป็นพื้นที่ทุ่งรับน้ำ (ทุ่งบางกุ่ม) จำนวน 4 ตำบล 24 หมู่บ้าน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,241 ครัวเรือน 3,624 คน ขณะนี้น้ำยังท่วมพื้นที่
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนัก งานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรอง ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน ขณะนี้ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิงและน่าน รวมถึงปริมาณฝนในพื้นที่ลดลง คาดว่าสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเข้าสู่สภาวะปกติประมาณช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ หรืออาจเร็วกว่ากำหนดคือช่วงปลายสัปดาห์แรกของเดือน พ.ย. กรณีสามารถควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงกลางเดือน พ.ย.เช่นเดียวกัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีเปิดงานเสวนาวิชาการและมอบนโยบาย “5 ปีที่ผ่าน ย่างก้าวสู่ปีที่ 6 ของ สทนช. กับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ” พล.อ.ประวิตรกล่าวเปิดงานว่า ขอบคุณ สทนช. และทุกหน่วยงานที่ได้ปฏิบัติงานด้วยดีมาโดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สทนช. ต้องเป็นหน่วยงานหลักในการนำนโยบายด้านน้ำและผลจากการเสวนาในครั้งนี้ นำไปสู่การปรับปรุงแผนและขับเคลื่อนบูรณาการทำงานจากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนอย่างใกล้ชิด ให้มีเอกภาพเพื่อยกระดับความมั่นคงด้านน้ำของประเทศและสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำให้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมทั้งให้สร้างการรับรู้ ความเข้าใจควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความร่วมมือของประชาชนด้วยดี
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยว่า ตอนนี้มีความคืบหน้า โดยที่ประชุม ครม.นำมาทบทวนตั้งแต่ปี 54 และปี 2562-2563 มาพิจารณาดู ตนเร่งรัดให้จ่ายเยียวยาประชาชนในสิ่งที่ทำได้เร็ว เพราะเข้าใจว่าเดือดร้อน ส่วนการดูแลพิเศษเพิ่มเติมทางกระทรวงมหาดไทยจะทำเสนอมาวันนี้ เนื่องจากว่าน้ำที่สะสมมาจากทางเหนือต้องค่อยๆระบายมาเรื่อยๆ การพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าฝนมามากกว่า 2-3 เท่าและสะสมในพื้นที่ ทำให้ระบบการระบายน้ำในระดับปกติกองไว้เต็มหมด แต่ยังน้อยกว่าปี 54 ทั้งที่ปริมาณน้ำไม่ต่างจากปี 54 รัฐบาลบริหารอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้เห็นใจคนที่เดือดร้อนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฝั่งคลองได้รับผลกระทบแน่นอน จะเตรียมการในระยะต่อไป จะเพิ่มทำนบน้ำหรือไม่ต้องดูงบประมาณแผนงานต่างๆต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สอบถามถึงเงินเยียวยาน้ำท่วมจะจ่ายได้เมื่อใด ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงต้องให้กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเบิกจ่ายเข้ามา ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอว่า การเยียวยาอย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความเสียหาย อยากให้ทหาร ตำรวจ นักเรียนอาชีวะไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือน อยากให้มีมาตรการอื่นๆ ตามความหนักเบาแต่ละพื้นที่ เช่น การแจกข้าว เพราะภาคอีสานทำนาปีละครั้ง จะเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี แต่เกิดน้ำท่วมก่อนจึงไม่มีข้าวกิน ไม่มีข้าวขาย ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กล่าวเสริมว่า การเยียวยาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่อยากให้ช่วยค่าครองชีพก่อน ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เสนอว่า หลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาท เป็นหลักเกณฑ์เยียวยาเมื่อ 10 ปีก่อน ขณะนี้ถ้าจะเพิ่มเป็น 6,000-7,000 บาท ได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์จึงสรุปว่า อะไรจ่ายได้ให้จ่ายไปก่อน เช่น เงินเยียวยา 5,000 บาท มีการ เตรียมงบกลางไว้ 2 พันล้านบาทแล้ว ถ้าจะเพิ่มเติมอะไรค่อยว่าภายหลัง
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ช่วงวันที่ 28-31 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง อุณหภูมิจะเริ่มลดลงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกอุณหภูมิจะลดลงใน ระยะถัดไป สำหรับร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังอ่อน โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร