



แหล่งเตาเผาโบราณที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา และมากกว่านั้นคือ ในระดับภูมิภาคเลยทีเดียว เนื่องจากได้มีการขุดค้นพบวัตถุโบราณมากมายอันเป็นเครื่องปั้นดินเผา ที่น่าจะมีต้นกำเนิดจากเตาเผาแม่น้ำน้อยแห่งนี้ โดยแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยนั้นกระจายตัวตามแนวของ แม่น้ำน้อยตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตร และมีจำนวนมากกว่า 200 เตาซึ่งชำรุดไปตามกาลเวลาและถูกทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากการขุดคลองชลประทาน การก่อสร้างถนน อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ของเตาเผาแม่น้ำน้อยนั้น น่าจะเริ่มต้นขึ้นในสมัยของพระนครินทราชาโดยมีข้อสันนิษฐาน ถึงผู้สร้างไว้สองแบบด้วยกัน กล่าวคือ อาจเป็นช่างปั้นชาวจีนและช่างปั้นต่างถิ่นที่อพยพมาตั้งรกรากบริเวณนี้ หรืออีกข้อสันนิษฐานหนึ่งคือช่างปั้นจากเมืองสุโขทัย อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์จากเตาเผาแม่น้ำน้อย ที่ขุดค้นพบนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผาที่เป็นไหสี่หู ครก โอ่งอ่าง กระปุกใส่ปูน ขวดปากแตรทรงสูง หวด ฝา เครื่องประกอบ สถาปัตยกรรม กระสุนดินเผาขนาดต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าพบภาชนะดินเผาที่คาดว่าอาจมีที่มาจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยในแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ และตามแหล่งเรือจมทั่วโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในอดีตนั้นเตาเผาแม่น้ำน้อยมีความเจริญถึงขีดสุด สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ภายในสถานที่ยังได้มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เตาแม่น้ำน้อยขึ้น โดยเป็นอาคารขนาดใหญ่เชื่อมต่อกันสองหลัง หลังแรกเป็นอาคารโปร่งที่สร้างขึ้นคลุมเตาเผา 2 เตา มีการยกพื้น โดยรอบเพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินชมพร้อมกับอ่านนิทรรศการประกอบได้โดยสังเขปทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ส่วนอาคารหลังที่สองนั้นจัดแสดงแบบจำลองเตาเผาแม่น้ำน้อย และตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่งที่มีการขุดค้นพบในบริเวณนี้ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 3654 4557